คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระทรวงการคลังฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยฐานละเมิดเกี่ยวกับเงินภาษีอากรของกรมสรรพากรซึ่งถูกยักยอกไปอายุความเริ่มนับแต่วันที่อธิบดีกรมสรรพากรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อปรากฏการทุจริตยักยอกเงินภาษีอากร และกรมสรรพากรได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนพฤติการณ์ย่อมถือได้ว่าอธิบดีกรมสรรพากร ได้รู้ถึงการละเมิดแล้วต่อมาสรรพากรจังหวัดซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งได้เสนอรายงานให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบเรื่องการทุจริตและการจับกุมผู้อยู่ในข่ายสงสัยว่าจะสมคบกันทุจริต ซึ่งมีจำเลยรวมอยู่ในพวกที่ถูกจับด้วยนั้นและต่อมาบุคคลเหล่านี้ก็ได้ถูกผู้ว่าคดีฟ้องกล่าวโทษเป็นคดีอาญาขึ้น ต้องถือว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานจากสรรพากรจังหวัด
คณะกรรมการซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรตั้งขึ้นสอบสวนการทุจริตรายงานว่าตรวจพบการทุจริตเพิ่มเติมอีกแต่กรรมการเห็นไม่ลงรอยกันในตัวผู้ต้องรับผิดอธิบดีกรมสรรพากรจึงสั่งให้รองอธิบดีพิจารณา รองอธิบดีพิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่าควรให้กองวิทยาการ กรมตำรวจ พิสูจน์ลายมือผู้ทุจริตให้แน่นอนก่อนอธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้นำเข้าประชุมปรึกษา กรรมการในที่ประชุมก็เห็นไม่ตรงกัน อธิบดีกรมสรรพากรจึงตั้งกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เสนอรายงานต่ออธิบดี สำหรับการทุจริตครั้งหลังนี้ถือได้ว่าอธิบดีกรมสรรพากรเพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานของคณะกรรมการชุดหลัง
การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจากผู้ที่มิได้กระทำผิดทางอาญานั้น อยู่ในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกแม้จะมีการฟ้องผู้กระทำละเมิดเป็นคดีอาญาด้วย แต่ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 448 วรรคสอง ต้องใช้อายุความตามวรรคแรก เช่นเดียวกัน
จำเลยซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาว่ายักยอกเงินของโจทก์เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีอาญาว่า คดียังไม่พอจะให้ศาลชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามและหากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการยักยอกเงินของโจทก์จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินที่มีผู้ยักยอกไปให้แก่โจทก์
จำเลยเป็นหัวหน้าส่วนราชการแผนกสรรพากรประจำอำเภอมีตำแหน่งสมุหบัญชีโท มีหน้าที่รับผิดชอบในเงินภาษีอากรตลอดจนตรวจนับเงินสดและเช็คที่มีผู้นำมาชำระค่าภาษีอากรทุกวันหากจำเลยไม่ปล่อยปละละเลยและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยใกล้ชิดและถ้าไม่ปลีกตัวออกจากการเป็นกรรมการถือกุญแจเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ตามระเบียบของกรมสรรพากรจำเลยอื่นก็จะไม่มีโอกาสยักยอกเอาเงินภาษีอากรของโจทก์ไปได้ ดังนี้ จำเลยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นชดใช้เงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า นายประพิทย์ นายสำลี นายไมตรี และนายเทียนชัยจำเลย ซึ่งเป็นข้าราชการประจำแผนกสรรพากรอำเภอบางรักกับนายดรุณจำเลยซึ่งแสดงตนกระทำการในหน้าที่เจ้าพนักงานแทนจำเลยอื่น ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน กฎหมายอาญา และระเบียบปฏิบัติราชการด้วยความตั้งใจและประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย โดยยักยอกเอาเงินค่าภาษีการค้าของโจทก์ไปรวมทั้งสิ้น 803,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ย

นายประพิทย์ นายสำลี นายไมตรี นายดรุณจำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดและว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

นายเทียนชัยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณานายสำลีจำเลยขาดนัดพิจารณา

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำการทุจริตด้วยวิธีการทำนองเดียวกับสำนวนแรก นายไมตรีกับนายดรุณทุจริตยักยอกเงินไป 163,780 บาท นายเทียนชัยยักยอกไป 4,000 บาท นายบุญลักษณ์ยักยอกไป 29,800 บาท ทั้งนี้ โดยนายประพิทย์ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการในแผนกสรรพากรได้ปฏิบัติราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้บังคับนายไมตรี นายดรุณร่วมกันใช้เงิน163,780 บาท นายเทียนชัยใช้เงิน 4,000 บาท นายบุญลักษณ์ใช้เงิน 29,800 บาท นายประพิทย์ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้เงิน 197,580 บาท พร้อมดอกเบี้ย

นายไมตรี นายดรุณ นายประพิทย์จำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดและว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ

นายเทียนชัย และนายบุญลักษณ์จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำนวนแรกขาดอายุความแล้ว และหนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ร่วม การที่จำเลยอื่นยกอายุความขึ้นต่อสู้ต้องถือเสมือนว่าได้ทำแทนนายเทียนชัยจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การด้วยส่วนสำนวนหลังยังไม่ขาดอายุความและข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่านายไมตรี นายดรุณ นายเทียนชัย และนายบุญลักษณ์ได้ยักยอกเงินตามฟ้องแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการประมาทเลินเล่อและฝ่าฝืนระเบียบราชการโดยตรงของนายประพิทย์จำเลย จำเลยต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องสำนวนแรก คงให้นายประพิทย์จำเลยในสำนวนหลังใช้เงิน 197,580 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

โจทก์และนายประพิทย์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และนายประพิทย์จำเลยฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ระหว่างเกิดเหตุนายประพิทย์รับราชการเป็นสมุหบัญชีอำเภอโท นายไมตรี และนายสำลีเป็นสมุหบัญชีจัตวา นายเทียนชัย และนายบุญลักษณ์เป็นเสมียนอำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร นายดรุณเดิมเป็นลูกจ้างแผนกสรรพากร อำเภอบางรัก แต่ขณะเกิดเหตุได้ออกจากราชการแล้ว เมื่อปลายปี 2500 หรือต้นปี 2501 ปรากฏว่าเงินภาษีการค้าของแผนกสรรพากรอำเภอบางรักขาดหายไปรวม 1 ล้านบาทโดยมีการปลอม ภ.ค.4 ให้มีจำนวนเงินน้อยกว่าเงินภาษีที่ผู้ประกอบการค้าได้เสียจริง และใบรับเงินที่อำเภอออกให้แก่ผู้ประกอบการค้ามีการปลอมโดยเติมตัวเลขเพื่อให้ตรงกับจำนวนเงินที่ผู้เสียภาษีเสียจริงสรรพากรจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตร่วมกับพนักงานสอบสวน และทำการจับกุมผู้อยู่ในข่ายว่าจะร่วมกันทุจริตไว้ คือ นายประพิทย์นายสำลี นายไมตรี นายดรุณ กับพวก จำนวนเงินที่ทุจริตยังไม่ยุติ แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐานแล้วเป็นเงิน 803,000 บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องในสำนวนแรก และต่อมาตรวจพบการทุจริตอีก 197,580 บาทในสำนวนหลัง การทุจริตเงินจำนวน 803,000 บาทนั้น หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแพ่งแล้ว อัยการได้ฟ้องนายไมตรีและนายดรุณเป็นคดีอาญา แต่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว

มีปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำนวนแรกปรากฏว่ากรมสรรพากรได้ให้ผู้แทนกองภาษีการค้ากับพวกเป็นกรรมการร่วมกับสรรพากรจังหวัดทำการสืบสวนพฤติการณ์เรื่องนี้เป็นการด่วนแต่วันที่ 23 มกราคม 2501 จึงฟังได้ว่า อธิบดีกรมสรรพากรได้รู้ถึงการละเมิดแต่วันดังกล่าว และวันที่ 31 มกราคม 2501 กรมสรรพากรได้รับบันทึกของสรรพากรจังหวัดพระนครส่งสำเนารายงานสรรพากรจังหวัดซึ่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดไปให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบเรื่องการทุจริตในคดีนี้และเรื่องการจับกุมผู้อยู่ในข่ายสงสัยว่าจะสมคบกันทุจริต คือ นายประพิทย์นายสำลี นายไมตรี กับพวก และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2501 กรมสรรพากรได้รับสำเนารายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครว่า นายดรุณก็ได้ถูกจับกุมในฐานะร่วมทุจริตด้วย ต่อมาบุคคลเหล่านี้ก็ได้ถูกผู้ว่าคดีฟ้องกล่าวโทษเป็นคดีอาญาขึ้นจึงฟังได้ว่า อธิบดีกรมสรรพากรได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วแต่วันที่ 31 มกราคม 2501 และ 20 กุมภาพันธ์ 2501 ตามลำดับ สำหรับนายประพิทย์และนายสำลีพนักงานอัยการไม่ได้ฟ้องเป็นคดีอาญา จึงต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก สำหรับนายไมตรีและนายดรุณซึ่งพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว แต่ศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงหาเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดอาญาไม่ จึงต้องใช้อายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกเช่นเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีสำนวนแรกนี้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2502 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่อธิบดีกรมสรรพากรรู้ตัวนายประพิทย์นายสำลี และนายไมตรี ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีสำหรับจำเลยทั้งสามนี้จึงขาดอายุความ สำหรับนายดรุณ อธิบดีกรมสรรพากรเพิ่งรู้ตัวว่าถูกจับกุมในฐานะร่วมทุจริตด้วยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2501 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีเฉพาะตัวนายดรุณจึงยังไม่ขาดอายุความ คดีสำนวนหลังสืบเนื่องมาจากอธิบดีกรมสรรพากรทราบการทุจริตในคดีสำนวนแรกแล้ว จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวน วันที่ 26 กันยายน 2503 คณะกรรมการได้เสนอรายงานการสอบสวนให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบรายละเอียดการทุจริตของคดีสำนวนแรกและได้รายงานด้วยว่ายังได้พบการทุจริตอีก 6 ราย คือการทุจริตในสำนวนหลัง แต่กรรมการมีความเห็นไม่ลงรอยกันในตัวผู้ต้องรับผิดอธิบดีกรมสรรพากรจึงสั่งให้รองอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง รองอธิบดีฯ 2 นายพิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่าควรให้กองวิทยาการ กรมตำรวจพิสูจน์ลายมือให้แน่นอนก่อนอธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้นำเรื่องเข้าประชุมปรึกษา กรรมการในที่ประชุมบ้างเห็นว่าคนนั้นผิด คนนี้ไม่ผิด อธิบดีกรมสรรพากรจึงตั้งกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาแล้วเสนอรายงานลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505 ถือได้ว่าอธิบดีกรมสรรพากรเพิ่งรู้ตัวผู้ต้องรับผิด โจทก์ฟ้องคดีสำนวนหลังเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2506 ยังไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยคนใดจะต้องรับผิดเพียงใด

คดีสำนวนแรกศาลฎีกาฟังว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่านายเทียนชัยได้ยักยอกเงินจำนวนใดไปหรือได้ประมาทเลินเล่อประการใด นายเทียนชัยจึงไม่ต้องรับผิด คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การที่นายเทียนชัยขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องได้หรือไม่ดังศาลล่างวินิจฉัย สำหรับนายดรุณซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า คดียังไม่พอจะให้ศาลชี้ขาดว่านายดรุณได้กระทำผิดตามฟ้อง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว ส่วนปัญหาที่ว่านายดรุณได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการยักยอกเงินดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาฟังว่า นายดรุณเป็นบุคคลภายนอกไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาเงิน และมิได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใดนายดรุณจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องสำนวนแรก

คดีสำนวนหลังศาลฎีกาฟังว่า นายดรุณ และนายไมตรีกับพวกได้ร่วมกันยักยอกเงินภาษีการค้าของโจทก์ไปรวม 163,780 บาท นายเทียนชัยยักยอกไป 4,000 บาท และนายบุญลักษณ์ยักยอกไป 29,800 บาท

สำหรับนายประพิทย์เป็นหัวหน้าส่วนราชการแผนกสรรพากรอำเภอบางรักมีตำแหน่งเป็นสมุหบัญชีโทมีหน้าที่รับผิดชอบในเงินภาษีอากรนี้โดยตรงและมีหน้าที่ตรวจนับเงินสดและเช็คที่มีผู้นำมาชำระค่าภาษีอากรทุกวันหากนายประพิทย์ไม่ปล่อยปละละเลยและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยใกล้ชิด และถ้าไม่ปลีกตัวออกจากการเป็นกรรมการถือกุญแจเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ ตามระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินผลประโยชน์ในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอฯแล้ว จำเลยอื่นก็จะไม่มีโอกาสยักยอกเอาเงิน 197,580 บาทไปได้นายประพิทย์จึงต้องร่วมชดใช้กับจำเลยอื่นด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้นายไมตรี และนายดรุณร่วมกันใช้เงิน 163,780 บาท นายเทียนชัยใช้เงิน 4,000 บาท นายบุญลักษณ์ใช้เงิน 29,800 บาท และนายประพิทย์ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้เงิน 197,580 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share