แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ไม่มีความผิดดังฟ้อง โดยลักษณะคดีศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณรวมไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213(อ้างฎีกาที่ 1370/2503)
จำเลยเข้าไปขอซื้อสบู่ในร้านผู้เสียหาย 1 ก้อน ราคา 3 บาท จำเลยส่งธนบัตรใบละ 100 บาทให้ ผู้เสียหายทอนให้ 97 บาท ต่อมาจำเลยพูดว่าไม่ต้องการสบู่ขอเงินคืน พร้อมกับส่งสบู่และเงินทอนให้ผู้เสียหายผู้เสียหายรับเงินทอนโดยไม่นับดู แล้วคืนธนบัตร 100 บาทให้จำเลย จำเลยรับแล้วก็รีบออกจากร้านไปดังนี้เจตนาของจำเลยก็เพื่อต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากเจ้าทรัพย์โดยใช้อุบายทำทีว่าจะซื้อสบู่ ด้วยการชำระเงินด้วยธนบัตรใบละ 100 บาท เพื่อเจ้าทรัพย์จะได้ทอนเงินปลีกให้ เมื่อได้เงินทอนแล้วก็กลับบอกเลิกไม่ซื้อสบู่และขอธนบัตรใบละ 100 บาทคืน โดยมอบเงินทอนให้แก่เจ้าทรัพย์แต่ฉวยโอกาสทำการทุจริตยักเอาเงินไว้เสีย 50 บาท โดยแกล้งทำเป็นซื้อสบู่เป็นฉากบังหน้าอันเป็นเท็จ เพื่อหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินส่วนหนึ่งที่เจ้าทรัพย์ทอนให้เพราะหลงเชื่อในการหลอกลวงนั้น การกระทำของจำเลยเป็นผิดฐานฉ้อโกง
เมื่อความผิดของจำเลยที่ได้ความตามทางพิจารณาเป็นฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ศาลจะลงโทษจำเลยหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน สมคบร่วมกันเป็นคนร้ายลักธนบัตร 50 บาทของนางเซียมเอง แซ่เซียว ไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7), 92 กับให้คืนเงิน 50 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยอื่นอีก 3 คน ยังไม่พอฟังว่าได้ร่วมกระทำผิดพิพากษาว่านางสะเลาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้จำคุกไว้ 1 ปี กับใช้เงิน 50 บาทแก่เจ้าทรัพย์ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยอื่น
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยอีก 3 คนฐานเป็นผู้ร่วมสมคบกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
นางสะเลาะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ควรมีผิด แต่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย เพราะยื่นเมื่อขาดอายุความอุทธรณ์แล้ว
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์เป็นที่น่าสงสัยไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และแม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอาญาเชื่อมา การกระทำนั้นก็ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้อง จะลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดีเช่นนี้ย่อมมีผลถึงนางสะเลาะจำเลยที่ 1 ด้วย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปล่อยจำเลยทุกคนพ้นข้อหา และยกคำขอที่ให้คืนเงินแก่เจ้าทรัพย์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ดังคำพิพากษาศาลอาญา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ควรมีความผิดดังฟ้องโดยลักษณะคดีนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณประโยชน์รวมไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และคำพิพากษาฎีกาที่ 1370/2503
ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาเชื่อตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาซึ่งได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าไปขอซื้อสบู่ในร้านผู้เสียหาย1 ก้อน ผู้เสียหายบอกราคา 3 บาท จำเลยที่ 1 ส่งธนบัตรใบละ 100 บาท ให้เป็นค่าสบู่ผู้เสียหายทอนให้ 97 บาท จำเลยที่ 1 นับเงินทอนแล้วบอกว่าไม่ถูกเพราะสบู่ราคาก้อนละ 2.50 บาท ผู้เสียหายว่าขายราคานั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงว่าอย่างนั้นก็ไม่เอา แล้วส่งเงินที่ทอน 97 บาทให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคืนธนบัตรฉบับละ 100 บาท ให้ไป สักครู่หนึ่งจำเลยก็ตกลงจะซื้อสบู่ราคา 3 บาทอีก ผู้เสียหายจึงหยิบสบู่ให้ใหม่ แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ให้เงินทันที ได้เดินดูสินค้าอย่างอื่นในร้าน ในที่สุดก็ไม่ซื้อของอื่น จำเลยที่ 1 ส่งธนบัตรใบละ 100 บาท ให้ผู้เสียหาย แล้วรับเงินทอนมา 97 บาทระหว่างนั้นมีผู้มาถามซื้อของในร้านต่อมาจำเลยที่ 1 พูดว่าไม่ต้องการสบู่แล้วขอเงินคืน พร้อมด้วยส่งสบู่และเงินทอนให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายรับเงินทอนโดยไม่ได้นับดูแล้วคืนธนบัตรฉบับ 100 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับแล้วก็รีบออกจากร้านไป ต่อมามีคนร้านใกล้เคียงกันทราบเรื่อง จึงแนะนำให้ผู้เสียหายนับเงินทอนดู ก็ปรากฏว่าเงินทอนขาดไป 50 บาท
ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนาอันแท้จริงของนางสะเลาะจำเลยที่ 1ก็เพื่อต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากเจ้าทรัพย์ โดยใช้อุบายทำทีว่าจะซื้อสบู่ด้วยการชำระเงินด้วยธนบัตรใบละ 100 บาท เพื่อเจ้าทรัพย์จะได้ทอนเงินปลีกให้เป็นสำคัญ เมื่อได้เงินทอนมาแล้วก็กลับบอกเลิกไม่ซื้อสบู่และขอธนบัตรใบละ 100 บาทคืน โดยมอบเงินทอนให้แก่เจ้าทรัพย์แต่ได้ฉวยโอกาสทำการทุจริตยักเอาเงินทอนไว้เสีย50 บาท คงคืนให้แก่เจ้าทรัพย์ไปเพียง 47 บาท ทั้งนี้ โดยการแกล้งทำซื้อสบู่เป็นฉากบังหน้าอันเป็นเท็จ เพื่อปลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินส่วนหนึ่งที่เจ้าทรัพย์ทอนให้เพราะหลงเชื่อในการหลอกลวงนั้น การกระทำของนางสะเลาะจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ไม่เพราะการที่เจ้าทรัพย์ทอนเงินให้แก่นางสะเลาะจำเลยก็โดยที่นางสะเลาะจำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้ได้มาซึ่งเงินทอนนั้น เป็นประการสำคัญแห่งเจตนาตน
เมื่อความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ได้ความตามทางพิจารณาเป็นฐานฉ้อโกง แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ไม่ประสงค์ให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาที่แก้ไขใหม่
พิพากษายืน