คำวินิจฉัยที่ 15/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๕๑

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดอำนาจเจริญและศาลปกครองนครราชสีมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล
ในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นางไฮ ฟามุทา หรือปามุทา โจทก์ ยื่นฟ้องนายรุทธ์ สุขสำราญ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ ๑ นายสมบัติ โต๊ะบุรินทร์อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๐๖/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักฐานเดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลจานลาน อำเภอพนาจังหวัดอุบลราชธานี(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) โดยรับมอบมาจากนางสีดามารดา มากว่า ๔๐ ปี โจทก์ได้ใช้ประโยชน์โดยทำนาทั่วบริเวณที่ดินทั้งแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดมา ต่อมาประมาณปี ๒๕๓๗ทางราชการทำการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดิน โจทก์นำรังวัดที่ดินตามแนวเขตที่ได้ครอบครองทำประโยชน์จริงซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำการตรวจพิสูจน์จำนวนที่ดินจัดทำหลักหมายเขตและสร้างหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ลงไว้เป็นการถูกต้องตรงกับแนวเขตที่ดินตามรูปที่ดินโดยประมาณตาม น.ส. ๓ เดิมของโจทก์ แต่ในการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ มีอำนาจหน้าที่ออกโฉนดที่ดินได้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินซึ่งออกให้แก่โจทก์ (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๑๗๑ ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ) ให้มีเนื้อที่น้อยลงกว่าเดิมซึ่งไม่ตรงกับที่ดินที่โจทก์นำรังวัดและผิดไปจากแนวเขตน.ส. ๓ เดิม ทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดหายไปจากการออกโฉนดทางด้านทิศเหนือประมาณ ๒๐ ไร่และทิศใต้ประมาณ ๒ ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ ๒๒ไร่เมื่อโจทก์รู้ถึงการออกโฉนดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของจำเลยที่ ๒ จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญดำเนินการแก้ไข แต่ได้รับการปฏิเสธ จนกระทั่งจำเลยที่ ๒ ย้ายไปรับราชการที่อื่นและจำเลยที่ ๑ ย้ายมาดำรงตำแหน่งแทน โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดแต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวไม่ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฉนดให้ถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๗๑ ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นของโจทก์ โดยให้ที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ ๕๙ ไร่ ทิศเหนือจดที่ดินนานายใสและป่า ทิศใต้จดที่ดินนานายเฮือง สิงห์แก้ว ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดร่องน้ำสาธารณประโยชน์และให้จำเลยทั้งสองหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยแก้ไขข้างเคียงทิศเหนือกับทิศใต้และจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดให้ถูกต้องแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ เดิมแบ่งแยกมาจากที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ซึ่งนายปัตถา มาหา เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง ต่อมานายปัตถาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายใส สิงห์แก้ว และเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๒นายใสจดทะเบียนแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ เนื้อที่ ๓๔ ไร่ ๕๔ตารางวาที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๙ จึงคงเหลือเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ต่อมาโจทก์นำที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ ไปนำเดินสำรวจออกโฉนด จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่๖๑๗๑ ให้โจทก์เมื่อวันที่ ๙ธันวาคม ๒๕๓๙ ได้เนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๓ งาน ๙๐ ตารางวา มากกว่าหลักฐานเดิมตาม น.ส. ๓ เลขที่๑๘๓/๑๖๙ จำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา โดยปรากฏรูปแผนที่ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๑๗๑และหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ มีรูปแผนที่คล้ายกัน มีระยะตามหลักฐานและจำนวนเนื้อที่ใกล้เคียงกัน แต่ระบุข้างเคียงทางด้านทิศเหนือจดนางไฮ (โจทก์) ทิศใต้จดนายเฮือง นอกจากนี้ตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดให้ไม่ครบนั้น แท้จริงแล้วโจทก์ได้บุกรุกที่ป่าเพิ่มเติมและสมยอมกับนายใส โดยนายใสให้โจทก์ครอบครองที่ดินที่บุกรุก ส่วนนายใสครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๙ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓งาน ๔๖ ตารางวา ตามเดิม ดังนั้น เมื่อมีการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามใบบันทึกถ้อยคำของเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่มาระวังแนวเขต จึงระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงทางด้านทิศเหนือที่จดทางและป่าซึ่งโจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และทางราชการก็ไม่สามารถออกเอกสิทธิให้แก่โจทก์ได้ นอกจากนี้ที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองแทนนายใสทางราชการก็ไม่สามารถอาศัยหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ ที่ระบุเนื้อที่ ๒๐ ไร่ เพิ่มเติมในโฉนดที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน อีกทั้งนายใสยังได้นำหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่๑๖๙ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกจากโจทก์ดังกล่าวไปใช้ในการออกโฉนดที่ดินในที่ดินบริเวณอื่นแล้ว ที่ดินทางทิศใต้เมื่อตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่๑๘๓/๑๖๙ ระบุจดนายเฮือง แต่เมื่อออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ แล้วระบุจดนางไฮ(โจทก์)เนื้อที่ที่ดินที่ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ จึงเป็นที่ดินที่โจทก์ครอบครองต่อจากนายเฮือง บิดาโจทก์ ซึ่งบุกรุกที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายหลังจากที่เคยแจ้งการครอบครองไว้ ทางราชการจึงไม่สามารถระบุเนื้อที่ ๒ ไร่ เพิ่มเติมลงในโฉนดเลขที่ ๖๑๗๑ ตามที่โจทก์ขอได้ประกอบกับขณะที่เจ้าหน้าที่เดินสำรวจโจทก์ซึ่งเป็นผู้ระวังแนวเขตที่ดินไม่ได้คัดค้าน และก่อนที่จะมีการแจกโฉนดทางราชการก็ได้ประกาศให้โจทก์คัดค้านแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด การออกโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญเห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์บรรยายว่ามีการแก้ไขแผนที่โฉนดที่ดิน ทำให้ไม่ตรงกับที่ปรากฏใน น.ส. ๓ แต่แท้จริงแล้วการที่โจทก์ขอให้แก้ไขแผนที่ในโฉนดดังกล่าวก็เพื่อให้ได้จำนวนที่ดินเพิ่มขึ้นซึ่งจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่อาจแก้ไขหรือออกโฉนดที่ดินให้มีเนื้อที่ตามที่โจทก์ร้องขอได้เนื่องจากที่ดินทางด้านทิศเหนือเป็นทางและป่า โจทก์ครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และทางราชการไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้โจทก์ได้ ส่วนที่ดินทางด้านทิศใต้ก็เป็นการบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายหลังที่เคยแจ้งการครอบครองไว้เห็นว่า ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีมีว่า ที่ดินส่วนที่เหลือที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ออกโฉนดให้แก่โจทก์ดังกล่าวเป็นของโจทก์หรือเป็นของรัฐ จึงเป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สิน ดังนั้นการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า กรณีเป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินในการดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้กระทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยมีจำนวนเนื้อที่และข้างเคียงไม่ถูกต้องตามหลักฐานการนำรังวัดอันเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เสียใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่า คู่ความโต้แย้งว่าเหตุที่จำเลยไม่แก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่๖๑๗๑ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นเพราะมีผู้โต้แย้งสิทธิในที่ดิน กรณีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔ ๒ โดยมีประเด็นหลักที่ต้องวินิจฉัยว่าการออกโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักฐานเดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙หมู่ที่ ๘ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) โดยรับมอบมาจากนางสีดา มารดา มากว่า ๔๐ ปี โจทก์ใช้ประโยชน์โดยทำนาทั่วบริเวณที่ดินทั้งแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดมา ต่อมาประมาณปี ๒๕๓๗ ทางราชการทำการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดิน โจทก์นำรังวัดที่ดินตามแนวเขตที่ได้ครอบครองทำประโยชน์จริงซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำการตรวจพิสูจน์จำนวนที่ดิน จัดทำหลักหมายเขตและสร้างหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ลงไว้เป็นการถูกต้องตรงกับแนวเขตที่ดินตามรูปที่ดินโดยประมาณตามน.ส. ๓ เดิมของโจทก์ แต่ในการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ มีอำนาจหน้าที่ออกโฉนดที่ดินได้แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินซึ่งออกให้แก่โจทก์ (โฉนดที่ดินเลขที่๖๑๗๑) ให้มีเนื้อที่น้อยลงกว่าเดิมซึ่งไม่ตรงกับที่ดินที่โจทก์นำรังวัดและผิดไปจากแนวเขต น.ส. ๓เดิม ทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดหายไปจากการออกโฉนดทางด้านทิศเหนือประมาณ ๒๐ ไร่ และทิศใต้ประมาณ ๒ ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ๒๒ ไร่ เมื่อโจทก์รู้ถึงการออกโฉนดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของจำเลยที่ ๒ จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญดำเนินการแก้ไข แต่ได้รับการปฏิเสธ จนกระทั่งจำเลยที่ ๑ย้ายมาดำรงตำแหน่งแทน โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๑ให้ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาด แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ ๑ซึ่งมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวไม่ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฉนดให้ถูกต้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๗๑ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นของโจทก์ โดยให้ที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ๕๙ ไร่ ทิศเหนือจดที่ดินนานายใสและป่า ทิศใต้จดที่ดินนานายเฮือง สิงห์แก้ว ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดร่องน้ำสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยทั้งสองหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ โดยแก้ไขข้างเคียงทิศเหนือกับทิศใต้และจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดให้ถูกต้องแก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ เดิมแบ่งแยกมาจากที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่๑๖๙ มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ซึ่งนายปัตถา มาหา เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง ต่อมานายปัตถาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายใส สิงห์แก้ว และเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๒ นายใสจดทะเบียนแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ เนื้อที่ ๓๔ ไร่ ๕๔ ตารางวา ที่ดินตาม น.ส. ๓เลขที่ ๑๖๙ จึงคงเหลือเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ต่อมาโจทก์นำที่ดิน น.ส.๓ เลขที่๑๘๓/๑๖๙ ไปนำเดินสำรวจออกโฉนด จำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ ให้โจทก์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ เนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๓ งาน ๙๐ ตารางวา มากกว่าหลักฐานเดิมตาม น.ส.๓เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ จำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๓๖ ตารางวา โดยปรากฏรูปแผนที่ตามโฉนดที่ดินเลขที่๖๑๗๑ และหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ มีรูปแผนที่คล้ายกัน มีระยะตามหลักฐานและจำนวนเนื้อที่ใกล้เคียงกัน แต่ระบุข้างเคียงทางด้านทิศเหนือจดนางไฮ (โจทก์) ทิศใต้จดนายเฮืองนอกจากนี้ ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกโฉนดให้ไม่ครบนั้นแท้จริงแล้วโจทก์ได้บุกรุกที่ป่าเพิ่มเติมและสมยอมกับนายใส โดยนายใสให้โจทก์ครอบครองที่ดินที่บุกรุก ส่วนนายใสครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๙ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ตามเดิมดังนั้นเมื่อมีการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามใบบันทึกถ้อยคำของเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่มาระวังแนวเขตจึงระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงทางด้านทิศเหนือที่จดทางและป่าซึ่งโจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และทางราชการไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้แก่โจทก์ได้ นอกจากนี้ที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองแทนนายใสทางราชการก็ไม่สามารถอาศัยหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ ที่ระบุเนื้อที่ ๒๐ ไร่ เพิ่มเติมในโฉนดที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน ทั้งนายใสได้นำหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๙ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๔๖ตารางวา ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกจากโจทก์ดังกล่าวไปใช้ในการออกโฉนดที่ดินในที่ดินบริเวณอื่นแล้ว ที่ดินทางทิศใต้เมื่อตามหลักฐานน.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙ ระบุจดนายเฮือง แต่เมื่อออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ แล้วระบุจดนางไฮ (โจทก์) เนื้อที่ที่ดินที่ขาดหายไปจำนวน ๒ ไร่ จึงเป็นที่ดินที่โจทก์ครอบครองต่อจากนายเฮือง บิดาโจทก์ ซึ่งบุกรุกที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายหลังจากที่เคยแจ้งการครอบครองไว้ ทางราชการจึงไม่สามารถระบุเนื้อที่ ๒ ไร่เพิ่มเติมลงในโฉนดเลขที่ ๖๑๗๑ ตามที่โจทก์ขอได้ การออกโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสองจึงถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักฐานเดิมเป็น น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๓/๑๖๙เนื้อที่ประมาณ ๕๙ ไร่ แต่ในการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ทำการแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ ซึ่งออกให้แก่โจทก์ให้มีเนื้อที่น้อยลงกว่าเดิม ไม่ตรงกับที่ดินที่โจทก์นำรังวัดและผิดไปจากแนวเขต น.ส. ๓ เดิม โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาด แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๗๑เป็นของโจทก์ โดยให้ที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ ๕๙ ไร่ ทิศเหนือจดที่นานายใสและป่า ทิศใต้จดที่ดินนานายเฮือง ทิศตะวันออกและตะวันตกจดร่องน้ำสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยทั้งสองหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๗๑ โดยแก้ไขข้างเคียงทิศเหนือกับทิศใต้และจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดให้ถูกต้องแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความประสงค์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ดังนั้นก่อนที่จะพิจารณาประเด็นการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับที่ดินจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ทั้งจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าและที่ดินรกร้างว่างเปล่า มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางไฮ ฟามุทา หรือปามุทา โจทก์ นายรุทธ์สุขสำราญ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ ๑ นายสมบัติ โต๊ะบุรินทร์ อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share