คำวินิจฉัยที่ 14/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๑

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นายทองปลิว เกตุหิรัญ ที่ ๑ นางสาวอุไรเกตุหิรัญที่ ๒ นายณรงค์ เกตุหิรัญ ที่ ๓ โจทก์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ นายนราธิป ภัทรวิมล ในฐานะผู้อำนวยการเขตสำนักงานเขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ที่๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๖๒/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๖ กันยายน๒๕๔๙ โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ ในการรังวัดที่ดินจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงคัดค้านการรังวัดไม่รับรองแนวเขตที่ดิน โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสามนำชี้แนวเขตรุกล้ำทางเท้าสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิเรียกตัวแทนของโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ ๓ มาทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย แต่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินฯ จึงแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปดำเนินการใช้สิทธิทางศาลซึ่งโจทก์ทั้งสามเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ คัดค้านมิให้โจทก์ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินเนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าทางเท้าสาธารณะดังกล่าวก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินบางส่วนของโจทก์ทั้งสาม โดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ จำเลยที่ ๔ ผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตวังทองหลางในขณะนั้น ได้รับงบประมาณจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ก่อสร้างทางเท้าสาธารณะซึ่งอยู่ติดแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่ก่อนดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว จำเลยที่๑ ที่ ๒และที่ ๔ มิได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินต่อสำนักงานเขตที่ดินตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยราชการ ทำให้การก่อสร้างทางเท้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามคิดเป็นเนื้อที่ ๑๑ ๕/๑๐ ตารางวาการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ในการก่อสร้างทางเท้าโดยมิได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินและคัดค้านการรังวัดสอบเขตของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกให้บุคคลอื่นเช่าได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่๑๘๖๙๘๓ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งสาม ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้า รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นใดของจำเลยทั้งสี่ริมถนนศรีวรา (ซอยลาดพร้าว๙๔) ในส่วนที่รุกล้ำออกไปจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทางเท้าสาธารณะมิได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นส่วนหนึ่งของถนนสาธารณประโยชน์(ถนนศรีวรา) ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนสาธารณประโยชน์ (ซอยอินทราภรณ์) กับซอยรามคำแหง๓๙ โดยถนนด้านหน้าติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ เลขที่ดิน ๓๒๗๘ นายวุ่น เกตุหิรัญ ได้ยกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนได้ใช้ประโยชน์มามากกว่าสิบปี ทางเท้าดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๔ เป็นการปรับปรุงถนนศรีวราและทางเท้าในแนวเดิมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว มิได้เป็นการก่อสร้างใหม่ กรณีนี้ไม่มีระเบียบข้อบังคับของหน่วยราชการที่ต้องทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ติดประกาศบริเวณที่จะปรับปรุงให้ประชาชนทราบ แต่โจทก์ทั้งสามก็มิได้คัดค้านหรือแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้ามประชาชนมิให้ใช้ทางเท้าและที่ดินที่พิพาทมีรูปร่างยาวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือให้บุคคลอื่นเช่าได้ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ ๓ คัดค้านการชี้แนวเขตของโจทก์ทั้งสาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาถนนสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามเป็นผู้กระทำการโดยไม่สุจริตที่นำชี้แนวเขตเข้าไปในทางเท้าดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งเห็นว่า แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่ากระทำละเมิดโดยการยื่นคำคัดค้านการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามและสร้างทางเท้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามอันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นถนนสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องรับผิดเพียงใด จึงเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.๒๕๒๘ ประกอบกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อพิเคราะห์จากคำฟ้องประกอบกับคำขอของโจทก์ทั้งสามแล้วเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสามมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ตนอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดโดยการก่อสร้างทางเท้ารุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ประเด็นพิพาทในคดีนี้จึงมีเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่ จึงเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสอดคล้องกับที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า กรณีที่จำเลยที่ ๑ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะโดยจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกทางน้ำแล้วก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔/๒๕๔๗ และที่ ๒๙/๒๕๔๗ ส่วนกรณีที่จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้สร้างทางเท้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แต่ทางเท้าดังกล่าวเป็นถนนสาธารณประโยชน์ซึ่งศาลแพ่งมีความเห็นว่า การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องรับผิดเพียงใด จึงเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมนั้นเห็นว่า แม้คดีนี้จะมีประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือที่ดินสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เนื่องจากข้อ ๔๑ วรรคสอง ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ให้อำนาจในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ กล่าวคือ ในกรณีที่คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นข้อหาใดมีหลายประเด็นเกี่ยวพันกัน และปรากฏว่ามีประเด็นที่จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้อยู่ในอำนาจหรือเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นซึ่งรับคดีไว้มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวพันกันที่ต้องวินิจฉัยก่อนนั้น เพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้ ดังนั้น ประเด็นที่คู่ความในคดีนี้โต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงเป็นเพียงประเด็นเกี่ยวพันที่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ศาลปกครองสามารถวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีที่ว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง ของระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เมื่อประเด็นพิพาทแห่งคดีนี้เป็นคดีปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามระบบไต่สวน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ศาลปกครองกลางจึงเห็นว่า เหตุเพราะประเด็นเกี่ยวพันไม่อาจที่จะทำให้คดีปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองปรับเปลี่ยนไปอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนั้น แม้ว่าสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวด้วยที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เนื่องจากศาลปกครองก็เป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๑๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ศาลปกครองจึงมีอำนาจที่จะใช้บทกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์สิน อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปที่รับรองสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์สิน มาพิจารณาพิพากษาคดีนี้ให้เป็นไปโดยยุติธรรมได้ดังเช่นกรณีที่ศาลปกครองได้ยกบทกฎหมายตามประมวลกฎหมายพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดมาปรับวินิจฉัยคดีปกครองในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือกรณีที่ศาลปกครองได้ยกบทกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสัญญา มาปรับวินิจฉัยคดีปกครองในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เป็นต้นอีกทั้งกรณีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมีลักษณะเป็นคดีปกครองอย่างชัดเจนเช่นนี้ สามารถอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมก็ได้ สุดแต่ว่าคู่ความจะโต้แย้งประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินหรือไม่ นอกจากจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ที่ประสงค์ให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องแยกตามประเภทของคดีโดยเคร่งครัด และต้องพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็วในศาลเดียวกันแล้ว ยังจะทำให้เกิดสถานการณ์ทางกฎหมายที่เป็นสองมาตรฐานขึ้นอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าหากคดีปกครองซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองคดีใด ไม่มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดิน หรือไม่มีกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อันจะทำให้ศาลต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒แล้ว ศาลปกครองที่รับฟ้องคดีปกครองนั้นก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวพันเรื่องสิทธิในที่ดินเพื่อที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปได้ หรือหากเป็นศาลยุติธรรมที่รับฟ้องคดีปกครองนั้น ก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไปได้ ทั้งๆ ที่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ไม่ได้ให้อำนาจศาลยุติธรรมที่จะรับคดีปกครองดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้เลย ในทางกลับกัน หากคดีปกครองซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองคดีใด มีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินหรือเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อันจะทำให้ศาลต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒แล้ว ศาลปกครองซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) กลับไม่มีอำนาจที่จะรับคดีปกครองดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่กลายเป็นศาลยุติธรรมซึ่งไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะรับคดีปกครองไว้พิจารณาพิพากษา สามารถที่จะรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีปกครองดังกล่าวต่อไปได้ทั้งๆ ที่ประเด็นเรื่องโต้แย้งสิทธิในที่ดินของคู่ความเป็นเพียงประเด็นเกี่ยวพันเท่านั้น หาได้เป็นประเด็นพิพาทในคดีไม่ กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมโดยมีมูลเหตุสืบเนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสามต้องการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วฝ่ายจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นคัดค้านกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสามนำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินสาธารณะคือถนนศรีวราซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย และไม่รับรองแนวเขตที่ฝ่ายโจทก์นำชี้ในการรังวัด การที่ฝ่ายโจทก์นำชี้เข้าไปในแนวทางเท้าเนื่องมาจากเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ ฝ่ายจำเลยสร้างทางเท้าบริเวณถนนศรีวรา ในส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยฝ่ายจำเลยมิได้รังวัดสอบเขตที่ดินที่แน่นอนก่อนลงมือก่อสร้างทางเท้าทำให้ทางเท้านั้นก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้ให้ความยินยอม ขอให้ศาลบังคับให้ฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ เนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๑๑ ๕/๑๐ ตารางวา (๔๖ ตารางเมตร) พร้อมส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ ๕,๗๕๐บาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะส่งมอบที่ดินส่วนที่รุกล้ำคืนและถอนคำคัดค้านการรังวัดฝ่ายจำเลยทั้งสี่ให้การว่าทางเท้าเป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ (ถนนศรีวรา) ซึ่งมีมานานกว่า ๕๐ ปี แล้ว โดยนายวุ่น เกตุหิรัญ และผู้จัดการมรดกของนายวุ่น ยกให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ และปี ๒๕๓๐ มีประชาชนทั่วไปใช้สัญจรมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วทุกครั้งที่ทางฝ่ายจำเลยใช้งบประมาณของทางราชการเข้าปรับปรุงซ่อมผิวจราจรและทางเท้าตามแนวเขตทางเดิม จะประกาศแจ้งการปรับปรุงให้ประชาชนทั่วไปทราบทุกครั้ง ประชาชนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ทั้งสามไม่เคยคัดค้านการที่ฝ่ายจำเลยเข้าปรับปรุง ไม่เคยห้ามปรามผู้อื่นมิให้ใช้ทางสัญจร เท่ากับว่าโจทก์ทั้งสามและประชาชนยอมรับว่าทางเท้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนสาธารณประโยชน์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ช่วงปี ๒๕๔๑และปี ๒๕๔๔ ฝ่ายจำเลยปรับปรุงถนนศรีวราตามแนวเดิม มิได้ก่อสร้างทางเท้าใหม่ จึงไม่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม การคัดค้านการนำชี้และรังวัดของโจทก์ทั้งสามเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ทั้งสามนำชี้รุกล้ำเข้ามาในทางเท้าอันเป็นส่วนหนึ่งของถนนสาธารณประโยชน์ เห็นว่าเมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ศาลบังคับให้ฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ ของโจทก์ทั้งสาม เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ เนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๑๑ ๕/๑๐ ตารางวา (๔๖ตารางเมตร) พร้อมส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราเดือนละ ๕,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะส่งมอบที่ดินส่วนที่รุกล้ำคืนและถอนคำคัดค้านการรังวัด จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของฝ่ายโจทก์คือ ต้องการยืนยันว่าที่ดินส่วนพิพาทจำนวน ๔๖ ตารางเมตรนั้นเป็นของฝ่ายโจทก์ เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามให้ตรงกันทั้งในสภาพความเป็นจริงและตรงกับที่ระบุในโฉนด การที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่า จะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การประกอบหลักกฎหมายและพยานหลักฐานเบื้องต้นในสำนวน แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ถึงขั้นนำพยานหลักฐานเข้าสืบ แต่เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องที่ฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าฝ่ายจำเลยรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของตนเป็นเนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๔๖ ตารางเมตร โดยฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่าไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของฝ่ายโจทก์ที่ดินส่วนพิพาทนั้นผู้ทรงสิทธิเดิมในฝ่ายโจทก์ยกที่ดินส่วนพิพาทให้แล้วย่อมมีผลเท่ากับฝ่ายจำเลยยืนยันว่าที่ดินส่วนที่พิพาทจำนวน ๔๖ ตารางเมตรนั้น ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดรุกล้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เป็นหลักสำคัญในการชี้ขาดคือที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นเป็นของฝ่ายใด หากยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์ ในฐานะที่ฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจที่จะใช้สอย จำหน่ายและได้ซึ่งดอกผลกับทั้งมีสิทธิ์ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากอำนาจกรรมสิทธิ์ การที่ฝ่ายโจทก์ดำเนินการรังวัดสอบเขตก็เป็นไปเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ครอบครองกับที่ปรากฏในเอกสารให้ถูกต้องตรงกัน การออกโฉนดที่ดินเป็นการจำลองอาณาเขตของที่ดินตามที่ผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองอยู่จริง แล้วคำนวณขนาดจากพื้นที่จริงตามหลักวิชาการย่อลงตามสัดส่วนเป็นรูปแผนที่ของที่ดินเขียนลงในโฉนดพร้อมทั้งระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้มีสิทธิในที่ดิน ตำแหน่งที่ดิน จำนวนเนื้อที่ รูปแผนที่ของที่ดินแปลงนั้นแสดงเขตข้างเคียงทั้งสี่ทิศ ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๗ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โฉนดที่ดินเพียงเป็นเอกสารที่รับรองขอบเขตแห่งกรรมสิทธิ์ตามสิทธิที่แท้จริงเท่านั้น ส่วนการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๕ โดยมีการสร้างหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่หรือปักหลักหมายเขตที่ดิน แสดงขอบเขตตำแหน่งที่ดินก็ต้องกระทำหลังจากที่ทราบขอบเขตแห่งสิทธิในที่ดินที่แน่นอน ตามที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงตกลงกันหรือตามคำพิพากษาของศาล หรือการรังวัดเพื่อสอบเขตที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๙ ทวิ ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบซ้ำเพื่อยืนยันถึงสิทธิที่แท้จริง โดยต้องให้ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือผู้รับมอบอำนาจให้กระทำแทนมาระวังแนวเขตและลงชื่อรับทราบแนวเขตที่ดินของตน หรือเรียกให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้อตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๐ กำหนดและหากผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือผู้รับมอบอำนาจมากระทำแทนรับรองเช่นไร แม้ปรากฏว่าการครอบครองไม่ตรงกับแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่หรือเนื้อที่ให้ตรงตามความเป็นจริงได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคสอง ในกรณีผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงคัดค้าน แม้เจ้าพนักงานมีอำนาจไกล่เกลี่ย แต่หากไม่ตกลงกันก็ต้องให้คู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้ง ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา๖๑ วรรคแปด ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่ดำเนินการออกโฉนดครั้งแรกสำหรับที่ดินแต่ละแปลงหากมีการโต้แย้งแล้วตกลงกันได้ก็ให้เจ้าพนักงานดำเนินการไปตามที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ไปใช้สิทธิทางศาล ตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๐ กำหนด การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านเพื่อให้การรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามดำเนินไปจนเสร็จสิ้นนั้น การรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามก็เพื่อตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงตามที่มีเอกสารยืนยันรับรองว่าที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นของโจทก์ทั้งสามนั้นตรงกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่ในขณะที่ฝ่ายจำเลยดำเนินการก่อสร้างต่าง ๆ มาตลอดก็โดยอ้างเหตุว่าที่ดินส่วนพิพาทไม่ใช่สิทธิของฝ่ายโจทก์แล้วซึ่งข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าผู้ทรงสิทธิเดิมในฝ่ายโจทก์ยกที่ดินส่วนพิพาทให้ จึงไม่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามแล้วนั้น ยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ในชั้นนี้ การที่จะพิจารณาว่า ฝ่ายจำเลยในฐานะแทนผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงที่มาทำหน้าที่ระวังแนวเขตมีสิทธิที่จะคัดค้านการนำชี้เพื่อรังวัดสอบเขตของฝ่ายโจทก์ได้หรือไม่ และจะให้ฝ่ายจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตหรือไม่ก็จะต้องพิจารณาว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีสิทธิที่แท้จริงในที่ดินส่วนที่พิพาทหรือไม่ หากฝ่ายจำเลยมีสิทธิในที่ดินส่วนที่พิพาทย่อมมีอำนาจที่จะคัดค้านไม่ให้ฝ่ายโจทก์นำชี้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นได้โดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติในกฎหมายที่รับรองหลักกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากได้ความดั่งว่านั้นว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินส่วนพิพาทย่อมจะส่งผลให้ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอของฝ่ายโจทก์ในข้อนี้ได้ เพราะด้วยเหตุอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์จะส่งผลให้การกระทำของฝ่ายจำเลยในคดีนี้ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม และในทางตรงกันข้ามหากพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินส่วนที่พิพาทที่แท้จริงฝ่ายจำเลยย่อมไม่อาจใช้อำนาจใดไปคัดค้านการรังวัดสอบเขตของโจทก์ทั้งสามได้เช่นกัน และการที่ฝ่ายจำเลยคัดค้านการนำชี้ในการรังวัดสอบเขตของโจทก์ทั้งสามที่นำชี้ตามแนวที่ปรากฏในเอกสารสิทธิ โดยที่ผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้มีสิทธิข้างเคียง ย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสามและส่งผลให้การกระทำใด ๆ ในที่ดินส่วนที่พิพาทตามฟ้องเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามทันทีที่มีการล่วงล้ำเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม ตามคำขอท้ายฟ้องประการที่สองที่ขอให้บังคับฝ่ายจำเลยรื้อถอนทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๖๙๘๓ เนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำ ๑๑ ๕/๑๐ ตารางวา (๔๖ ตารางเมตร) พร้อมส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ทั้งสามในสภาพที่เรียบร้อย โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของตน ก็เป็นคำขอที่มุ่งโดยตรงที่จะให้ตนได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินส่วนพิพาท เป็นการขอโดยอาศัยบทบัญญัติตามกฎหมายที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์ การขอให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างและทำที่ดินให้กลับคืนดีส่งคืนในสภาพเรียบร้อยก็เป็นการขอให้เยียวยาความเสียหายโดยให้ส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิที่แท้จริง เพื่อที่จะให้ผู้มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินส่วนพิพาทนั้น การที่ศาลจะพิพากษาว่าจะให้จำเลยทั้งสี่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ออกจากที่ดินส่วนพิพาทตามคำขอของฝ่ายโจทก์หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนอีกเช่นกันว่าที่ดินส่วนพิพาทเป็นของฝ่ายโจทก์ทั้งสามหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการจะพิจารณาพิพากษาว่าจะให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในระหว่างที่ยังไม่ถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินและยังไม่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกพร้อมส่งมอบที่ดินส่วนพิพาทคืนโจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อย ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสามในประการสุดท้ายได้หรือไม่ด้วย ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างทางเท้า หรือการคัดค้านการรังวัดสอบเขต คู่ความต่างไม่โต้แย้ง เพียงฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างว่ากระทำลงในที่ดินส่วนที่ตนมีสิทธิและที่ดินส่วนพิพาทไม่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามแล้ว ทั้งไม่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่กระทำการในที่ดินส่วนที่ไม่ใช่สิทธิของตนได้ดังนั้น ในการจะพิจารณาพิพากษาว่าจะมีคำบังคับตามคำขอข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งสามข้อตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้หรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับการพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นสิทธิของฝ่ายใดทั้งสิ้น คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายทองปลิว เกตุหิรัญ ที่ ๑ นางสาวอุไรเกตุหิรัญ ที่ ๒ นายณรงค์ เกตุหิรัญ ที่ ๓ โจทก์ กรุงเทพมหานคร ที่ ๑ นายอภิรักษ์ โกษะโยธินที่ ๒ นายนราธิป ภัทรวิมล ที่ ๓ นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๐

Share