แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไปและผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๕ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โจทก์ได้ยื่นฟ้อง บริษัท คลีนเทคโนโลยี จำกัด ที่ ๑ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๑/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๓๖/๒๕๔๒ เป็นเงินค่าจ้าง จำนวน ๖๘,๗๖๕,๖๕๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๓ โดยสัญญาข้อ ๗ กำหนดว่าหากมีความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างภายในกำหนด ๒ ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงาน ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้อง หรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา จำเลยที่ ๑ จะต้องรีบแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย หากบิดพลิ้วไม่ทำการดังกล่าวภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์ หรือไม่ทำการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาที่โจทก์กำหนด ให้โจทก์มีสิทธิทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นทำการนั้น โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ในการทำสัญญาจ้างดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้นำหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ มามอบให้โจทก์เป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ในวงเงิน ๓,๔๓๘,๒๘๒.๕๐ บาท โดยยอมผูกพันตนเช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแล้วเสร็จ และโจทก์ได้รับมอบงานดังกล่าวตามสัญญาจ้างทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๓ ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ กระเบื้องมุงหลังคาหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลังดังกล่าวแตกร้าวเสียหายเกือบทั้งหมด สาเหตุเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ใช้กระเบื้องหลังคาที่มีความหนาขนาด ๔ มิลลิเมตร ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (มอก.) รับรอง และไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาช่างโดยปกปิดรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ราคา และมาตรฐานของวัสดุที่ใช้ มิให้โจทก์ทราบว่าเป็นวัสดุกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ถูกต้องตามหลักวิชาช่าง จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างข้อ ๗ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขซ่อมแซมหลังคาอาคารหอพักนักศึกษาดังกล่าวให้เรียบร้อยแต่จำเลยที่ ๑ ยังคงจะเข้าซ่อมโดยใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีความหนาขนาด ๔ มิลลิเมตรเช่นเดิม โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ใช้กระเบื้องที่มีความหนา ๕ มิลลิเมตร ซึ่งมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รับรอง แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์จึงจ้างผู้รับจ้างอื่นดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมแทน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น ๑,๖๘๐,๐๐๐ บาท โดยได้จ่ายเงินให้ผู้รับจ้างอื่นไป เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ โจทก์จะดำเนินการหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันของจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน ๑,๗๗๔,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑,๖๘๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ เนื่องจากไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทุกประการตามแบบแปลนในสัญญาได้กำหนดกระเบื้องมุงหลังคาชนิดความหนา ๔ มิลลิเมตร แต่โจทก์ต้องการกระเบื้องชนิดความหนา ๕ มิลลิเมตร ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือสัญญาจ้าง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและเป็นฝ่ายสั่งระงับมิให้จำเลยที่ ๑ ซ่อมแซม แม้โจทก์จะจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมโดยเสียค่าจ้าง จำเลยที่ ๑ ก็หาจำต้องรับผิดไม่ และได้ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีโดยอ้างว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์หาว่าผิดสัญญาจ้างดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๘๙๖/๒๕๔๔ อันเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนคดีที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองนั้น เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองจึงไม่ใช่คดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เนื่องจากโจทก์และ จำเลยที่ ๑ ยังพิพาทกันอยู่ โดยจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง และต่างอ้างว่าอีกฝ่ายผิดสัญญา ทั้งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง จำเลยที่ ๒ จึงจำเป็นต้องชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน เพื่อรอผลการชี้ขาดของศาล จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ กับจำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้าง พิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร อันเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทสถาบันการศึกษามีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีหน้าที่ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยโจทก์จำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร ทั้งนี้การศึกษาเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ อาคารหอพักนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยโจทก์ เป็นถาวรวัตถุอันเป็นองค์ประกอบและเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการบริการสาธารณะดังกล่าวให้บรรลุผล จึงเป็นสิ่งสาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน และเนื่องจากวัตถุแห่งสัญญานี้คือการรับจ้างก่อสร้างอาคารในมหาวิทยาลัยของรัฐ จึงถือได้ว่าเป็นการที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนเข้าดำเนินการ จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้น สัญญาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง แต่ก็อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคดี จึงเป็นคู่กรณีตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาของสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาที่พักให้แก่นักศึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เข้าพักอาศัย กรณีจึงเป็นการที่หน่วยงานทางปกครองดำเนินกิจการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรในมหาวิทยาลัย มิใช่วัตถุประสงค์หลักในการจัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาโดยตรง หรือเป็นถาวรวัตถุที่หากขาดไปจะไม่สามารถทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาได้ สัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาประเภทต่าง ๆ อันจะเข้าลักษณะสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง แต่เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โจทก์ ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท คลีนเทคโนโลยี จำกัด จำเลยที่ ๑ ให้ออกแบบและก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษา จำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร โดยมีธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างแล้วเสร็จ โจทก์ได้รับมอบงานดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อมา กระเบื้องมุงหลังคาแตกร้าวเสียหายเกือบทั้งหมด เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ใช้กระเบื้องหลังคาที่มีความหนาขนาด ๔ มิลลิเมตร ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รับรอง และไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาช่างโดยปกปิดรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ราคา และมาตรฐานของวัสดุที่ใช้ มิให้โจทก์ทราบ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขซ่อมแซมแต่จำเลยที่ ๑ จะเข้าซ่อมโดยใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีความหนาขนาดเท่าเดิม โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ใช้กระเบื้องที่มีความหนา ๕ มิลลิเมตร จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์จึงจ้างผู้รับจ้างอื่น และหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันของจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอม จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธอ้างว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ เนื่องจากไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา การใช้กระเบื้องชนิดความหนา ๕ มิลลิเมตร เป็นเรื่องนอกเหนือสัญญาจ้าง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและเป็นฝ่ายสั่งระงับมิให้จำเลยที่ ๑ ซ่อมแซม แม้โจทก์จะจ้างบุคคลภายนอกทำการซ่อมแซมโดยเสียค่าจ้าง จำเลยที่ ๑ ก็หาจำต้องรับผิดไม่ และได้ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีโดยอ้างว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์หาว่าผิดสัญญาจ้างดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๘๙๖/๒๕๔๔ อันเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ ๑ ยังพิพาทกันอยู่ โดยจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง และต่างอ้างว่าอีกฝ่ายผิดสัญญา ทั้งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง จำเลยที่ ๒ จึงจำเป็นต้องชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน เพื่อรอผลการชี้ขาดของศาล จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้ออกแบบและก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาและระบบสาธารณูปโภคและสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าว
ประเด็นที่ต้องพิจารณา สัญญาจ้างให้ก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง โดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้บัญญัติไว้ว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร จึงถือเป็นกิจการที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาดำเนินการเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างให้ก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาจำนวน ๒ หลัง และระบบสาธารณูปโภคที่เชื่อมต่อภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นสัญญาหลักเมื่อสัญญาหลักเป็นสัญญาทางปกครองและข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โจทก์ บริษัท คลีนเทคโนโลยี จำกัด ที่ ๑ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๖