คำวินิจฉัยที่ 14/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑ นางสาวจวงจันทน์ จันทรัมพร ที่ ๑ นางรุ่งพิมพ์ คฤหะนันทน์ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ นายณรงค์ มีเพียร ที่ ๒ นายอภิชาต มีเพียร ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๔๗/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในชุมชนตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยครอบครองทำประโยชน์อย่างสงบเปิดเผยเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี และรัฐสนับสนุนส่งเสริมให้บริการเป็นชุมชนแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เช่าที่ดินบริเวณที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองเพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จำนวน ๔ ฉบับ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองและประชาชนได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว และเรียก รับ ยอมรับเอาทรัพย์สินเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ อันเกี่ยวกับการอนุมัติให้จำเลยที่ ๒ กับพวกได้สิทธิเป็นผู้เช่า โดยจำเลยที่ ๒ กับพวกมอบที่ดินเนื้อที่ ๗ ไร่ และผลประโยชน์อย่างอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ บางคน จนในที่สุดพนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ได้ทำการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑ แปลง ส่วนอีก ๔ แปลง ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับสิทธิการเช่า ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ให้ความเห็นชอบ สัญญาเช่าที่ดินแปลงพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นกลฉ้อฉล โจทก์ทั้งสองและเจ้าของรวมอื่นได้ทักท้วงหลายครั้ง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ เพิกเฉย และทำการขับไล่รื้อถอนทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้นำสัญญาเช่าดังกล่าวไปจดแจ้งทางทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนแยกเกาะพะงัน และใช้สัญญาดังกล่าวขับไล่รื้อถอนทรัพย์สินของประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่า สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รวม ๔ ฉบับ ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันทำการยกเลิกเพิกถอนสัญญาเช่าดังกล่าว และทำการยกเลิกเพิกถอนรายการจดทะเบียนการเช่าที่ดินออกจากสารบบที่ดิน ทะเบียนเลขที่ สฎ. ๕๘๘ หมู่ ๒ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ส่วนแยกเกาะพะงัน หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาหรือให้ผู้มีส่วนได้เสียทำการยกเลิกเพิกถอนรายการจดทะเบียนการเช่าที่ดินออกจากสารบบที่ดิน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เดิมนายจุ้ยและนางจีบ มีเพียร ครอบครองทำกินในที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฎ. ๕๘๘ หมู่ ๒ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ มีเพียร บิดาของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบุตรของนายจุ้ยและนางจีบต้องการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในที่ดินดังกล่าว จึงยื่นคำร้องขอเช่าที่ราชพัสดุต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๑ และวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๑ มีเนื้อที่รวม ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา โดยได้รับความยินยอมจากนายจุ้ยและนางจีบ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๓ จังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศการขอเช่าที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์บิดาของจำเลยที่ ๓ ให้แสดงหลักฐานการครอบครองที่ดินราชพัสดุ และบันทึกสอบสวนสิทธิการครอบครอง ระหว่างการพิจารณานายจุ้ยและนางจีบเสียชีวิต ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ได้อุทิศที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฎ. ๕๘๘ จำนวน ๗ ไร่ ให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างที่ว่าการอำเภอ โดยทำหนังสือไว้เป็นหลักฐาน เป็นการอุทิศที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะและเป็นที่ดินคนละหมู่กับที่ดินที่จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ขอเช่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้รับผลประโยชน์เป็นทรัพย์สินดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีพิจารณาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์มีสิทธิดีกว่าโจทก์ทั้งสอง เพราะนายจุ้ยและนางจีบทำหนังสือยกสิทธิการครอบครองให้ก่อนเสียชีวิต และจำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องมาตลอดจนปัจจุบัน จึงอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์เช่าที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฎ. ๕๘๘ หมู่ ๒ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ ทั้งนี้ นายสมเจตน์ได้โอนการครอบครองให้แก่จำเลยที่ ๓ คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในชุมชนเกาะเต่าตามฟ้อง แต่อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ มีเพียร จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฎ. ๕๘๘ หมู่ ๒ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งตำบลเกาะเต่าที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ทางราชการ มิได้ส่งเสริมให้บริการเป็นชุมชน นายจุ้ยและนางจีบเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์เมื่อปี ๒๔๙๖ ต่อมาในปี ๒๕๔๑ ได้มอบการครอบครองที่ดินตามฟ้องและแปลงอื่นๆ รวมเนื้อที่ประมาณ ๗๕ ไร่ เศษ ให้แก่จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ และในปีเดียวกัน จำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ได้ยื่นคำขอเช่าที่ดินบางส่วนที่ครอบครองใช้ประโยชน์ต่อจำเลยที่ ๑ โดยมิได้มอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๑ หรือมีการกระทำใดๆ อันมิชอบด้วยกฎหมายตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง สัญญาเช่าทั้งสี่ฉบับตามคำฟ้อง จึงเป็นสัญญาเช่าที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าทั้งสี่ฉบับและเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าได้ เพราะการจดทะเบียนการเช่าดังกล่าวเป็นสิทธิโดยชอบของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕/๒๕๕๑ โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต มีเจตนาประวิงคดีที่ถูกฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การแจ้งผลการคัดค้านของโจทก์ทั้งสองของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๑ ที่ให้สิทธิการเช่าที่ราชพัสดุเป็นของจำเลยที่ ๒ และนายสมเจตน์ ถือเป็นคำสั่งตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อ ๒๔ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖ วรรคสอง ให้อำนาจไว้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสืบเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เช่าที่ราชพัสดุรวมสี่ฉบับ จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าและการจดทะเบียนสิทธิการเช่าของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองแสดงถึงเจตนาที่จะได้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุตามที่อ้างว่าเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสุจริต ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของด้วยความสงบเปิดเผยตลอดมา การวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่อ้าง และจำเลยที่ ๑ อนุมัติให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวโดยชอบหรือไม่ จำเป็นต้องพิสูจน์การครอบครองโดยชอบของโจทก์ทั้งสองก่อน ดังนั้น ตามคำฟ้องคดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำฟ้องต่อศาลขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ และข้อ ๒๔ ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้อำนาจอธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นำที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการมาจัดหาประโยชน์โดยการให้เช่าได้ตามเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นำที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเช่า อันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎกระทรวงและยังเป็นการฉ้อฉลและทุจริต อันเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งว่า กระบวนการขั้นตอนในการคัดเลือกผู้เช่าและการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินหรือพิพาทในเนื้อหาของสัญญาเช่าที่ดิน และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เพราะคู่กรณีรับในข้อเท็จจริงแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖ และกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อ ๒๓ และข้อ ๒๔ กำหนดให้อำนาจอธิบดีกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ นำที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการ หรือที่ไม่ได้สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการมาจัดหาประโยชน์โดยการจัดให้เช่าได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายกำหนด การให้เช่าที่ราชพัสดุจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมธนารักษ์ที่จะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชน เช่าที่ราชพัสดุโดยทุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าและรายการจดทะเบียนการเช่าที่ดินออกจากสารบบที่ดิน ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ทุจริตตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง การพิจารณาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เช่าที่ราชพัสดุเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง การจดทะเบียนการเช่าที่ราชพัสดุเป็นสิทธิโดยชอบของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นการฟ้องคดีที่สืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๑ ในการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุตามที่พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติไว้ และเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งกันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกัน ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวจวงจันทน์ จันทรัมพร ที่ ๑ นางรุ่งพิมพ์ คฤหะนันทน์ ที่ ๒ โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ นายณรงค์ มีเพียร ที่ ๒ นายอภิชาต มีเพียร ที่ ๓ จำเลย
อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share