คำวินิจฉัยที่ 14/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๔๖

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดีและ ศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยนายทนงสรรค์ สุธาธรรม ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวหรือนางวิมลรัตน์หรือสริตา สุคันธารุณหรือศิริมาศ ที่ ๑ นางสาวสดศรี ปริยกุลหรือเจริญพันธ์ ที่ ๒ นางอารีย์ บูรพงศ์กานนท์หรือทับเกร็ด ที่ ๓ นางสาวบุญทิน จันทร์เพ็ญ ที่ ๔ นางสาวสลับศรี อยู่ประคอง ที่ ๕ เป็นจำเลย ความว่า ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ ถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ๔ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๒ ให้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการขอยืมเงินสวัสดิการโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อทดรองจ่ายเป็นค่าหนังสือและวารสารสำหรับใช้ในงานห้องสมุดของโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งอนุมัติให้ยืมเงินสวัสดิการ การจ่ายเงินจะจ่ายเป็นเช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาโรงพยาบาลราชวิถี ในนามของจำเลยที่ ๒ เพื่อสลักหลังเช็คและให้จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่นำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อซื้อดร๊าฟจากธนาคาร ไปชำระหนี้ค่าหนังสือและวารสาร จำเลยที่ ๒ ไม่ตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ ๒ โดยการสลักหลังเช็คที่ได้รับมอบเพื่อนำไปขึ้นเงินจำนวน ๔๔ ฉบับ และเบียดบังยักยอกเงินตามเช็คดังกล่าวไปใช้ในประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เป็นจำนวน ๓,๗๗๔,๗๙๙.๘๓ บาท และจำเลยที่ ๓ มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ๗ ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก ต้องรับผิดชอบควบคุมการเงินและบัญชีของเงินสวัสดิการโรงพยาบาลราชวิถี กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ไม่ตรวจสอบงานยืมเงินทดรองราชการเงินสวัสดิการโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อซื้อหนังสือและวารสาร ตามที่มอบหมายให้จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้รับคำขอยืมเงินทดรองราชการ เงินสวัสดิการตลอดจนการจ่ายเช็ค การทวงเงิน และไม่กำกับดูแล ไม่ตรวจสอบหลักฐานที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ รวมทั้งจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ ขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบหลักฐานให้เป็นไปตามระเบียบ จนทำให้มีการยักยอกเงินของโจทก์ไปเป็นจำนวน ๓,๗๗๔,๗๙๙.๘๓ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ได้ชำระคืนแก่โจทก์จำนวน ๕๐,๖๓๗.๙๓ บาท คงค้างชำระอีกจำนวน ๓,๗๒๔,๑๖๒.๖๒ บาท ต่อมาโจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหาตัวผู้กระทำความผิดทางแพ่ง คณะกรรมการได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับได้มีหนังสือทวงถามเงินที่ได้รับความเสียหายจากมูลละเมิดครั้งนี้ไปยังจำเลยทั้ง ๕ ปรากฏว่าจำเลยทั้ง ๕ เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ จึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้ ขอบังคับให้จำเลยทั้ง ๕ ชำระเงินจำนวน ๔,๘๓๑,๓๕๗.๑๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓,๗๒๔,๑๖๒ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพร้อมกับโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เมื่อคดีนี้ฟ้องตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษานี้
โจทก์ทำคำชี้แจงลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๕ ว่า คดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทของข้าราชการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ขอให้ศาลโอนคดีนี้ไปยังศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้ง ๕ เป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โจทก์ จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต่อหน้าที่ไม่ตรวจสอบเอกสารไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับในการเบิกจ่ายเงิน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๐/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปในการครอบครองดูแลทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยโอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่กระทำการทุจริตเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการไป จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป มิใช่การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ แต่ประการใด คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ นั้น เห็นว่า เป็นการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๘ (๓) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ (๑๐) กำหนดให้กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลราชวิถีเป็นส่วนราชการหนึ่งในกรมการแพทย์ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ส่วนจำเลยทั้ง ๕ เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้ ทั้งศาลแพ่งและศาลปกครองกลางมีความเห็นตรงกันว่า ในส่วนของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ คดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการยื่นแบบคำขอยืมเงินสวัสดิการโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อทดรองจ่ายเป็นค่าหนังสือและวารสารสำหรับใช้ในงานห้องสมุดของโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ ๒ เพื่อสลักหลังเช็คที่ได้รับมอบจำนวน ๔๔ ฉบับและเบียดบังยักยอกเงินตามเช็คดังกล่าวไปโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้โรงพยาบาลราชวิถีได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โจทก์ นางสาวหรือนางวิมลรัตน์หรือสริตา สุคันธารุณหรือศิริมาศ ที่ ๑ นางสาวสดศรี ปริยกุลหรือเจริญพันธ์ ที่ ๒ นางอารีย์ บูรพงศ์กานนท์หรือทับเกร็ด ที่ ๓ นางสาวบุญทิน จันทร์เพ็ญ ที่ ๔ นางสาวสลับศรี อยู่ประคอง ที่ ๕ จำเลย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท พลโท
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share