คำวินิจฉัยที่ 139/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ แม้จำเลยร่วมจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ดินมีโฉนด จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ นำรถแบคโฮไปขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งปลูกไว้ตามแนวเขตที่ดินได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ ๒ มิได้ขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างเหมาอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำจากจำเลยร่วม จำเลยร่วมให้การว่า ต้นไม้ปลูกอยู่บนแนวคันคลองใหญ่อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๙/๒๕๕๗

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นางชโลมศรี ทองคล้าย ที่ ๑ นางไขแสง ปุ๊กกระโทก ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด สองสายใย ๒๐๐๔ ที่ ๑ นายสมพงษ์ แสดกระโทก ที่ ๒ เทศบาลตำบลอรพิมพ์ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๑๘/๒๕๕๖ และศาลได้เรียกกรมทรัพยากรน้ำเข้าเป็นจำเลยร่วม ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๘ ตำบล (จระเข้หิน) อรพิมพ์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๗๙ ตารางวา เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ ๓ นำรถแบคโฮไปขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งปลูกไว้ตามแนวเขตที่ดินได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ศาลอนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ออกจากสารบบความ และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมทรัพยากรน้ำเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินเป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๒ มิได้ขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างเหมาอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำจากจำเลยร่วม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การว่า ต้นไม้ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายมิได้อยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่บนแนวคันคลองใหญ่อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ขุดลอกคลองใหญ่ ตามสัญญาจ้างเหมาอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำคลองใหญ่ หมู่ที่ ๗ การขุดลอกคลองของจำเลยที่ ๑ ทำให้ต้นไม้ซึ่งปลูกตามแนวเขตบนที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมให้การต่อสู้ว่า ต้นไม้ที่จำเลยที่ ๑ ขุดออกไปไม่ใช่ต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง แต่เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามแนวคันคลอง อันเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ดังนั้นการพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ต้นไม้ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ทำให้เกิดความเสียหาย ปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือปลูกอยู่บนที่สาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน แล้วจึงจะพิจารณาคดีต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยร่วมได้จ้างจำเลยที่ ๑ ให้ดำเนินการขุดลอกลำคลองใหญ่เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ตามสัญญาจ้างเหมาอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำคลองใหญ่ เมื่อจำเลยร่วมเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา ๒๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีภารกิจตลอดจนอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๔๕ เกี่ยวกับการเสนอแนะ การจัดทำนโยบาย แผนงาน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ การบริหาร จัดการ พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมทั้งควบคุม ดูแล กำกับ ประสาน ติดตาม ประเมินผล แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ พัฒนาวิชาการ กำหนดมาตรฐานและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งระดับภาพรวมและระดับลุ่มน้ำ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ดังนั้น การที่จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ขุดลอกคลองเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูคลองดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยร่วมได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยใช้นิติสัมพันธ์ทางสัญญาเป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองใหญ่ อันมีลักษณะเป็นสัญญาที่มอบหมายให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าในการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ ๑ นำรถแบคโฮไปดำเนินการขุดลอกคลองใหญ่ ได้ขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสองที่ปลูกไว้เป็นแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองตลอดแนวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการขุดลอกคลองใหญ่ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยร่วมตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและการดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ต้นไม้ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ทำให้เกิดความเสียหาย ปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หรือปลูกอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกันนั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบในการพิจารณาข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังพยานหลักฐานในคดีของศาลปกครองเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา ๔๔ โดยโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมมีสิทธิชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่จำต้องเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของบุคคลตามมาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพียงแต่มีกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ทางปกครองดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางน้ำและทางระบายน้ำ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องอาศัยและใช้อำนาจเหนือเอกชน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยร่วมจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ ๓ นำรถแบคโฮไปขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งปลูกไว้ตามแนวเขตที่ดินได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินเป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยที่ ๒ มิได้ขุดทำลายต้นไม้ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างเหมาอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำจากจำเลยร่วม จำเลยร่วมให้การว่า ต้นไม้มิได้อยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่ปลูกอยู่บนแนวคันคลองใหญ่อันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางชโลมศรี ทองคล้าย ที่ ๑ นางไขแสง ปุ๊กกระโทก ที่ ๒ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สองสายใย ๒๐๐๔ ที่ ๑ นายสมพงษ์ แสดกระโทก ที่ ๒ เทศบาลตำบลอรพิมพ์ ที่ ๓ จำเลย กรมทรัพยากรน้ำ จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share