คำวินิจฉัยที่ 133/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแก้ไขแนวเขตถนนให้ถูกต้อง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ถนนพิพาทเดิมเป็นที่ดินที่ประชาชนอุทิศให้เพื่อเป็นทางสู่ลำห้วยสาธารณะ ทั้งผู้ฟ้องคดีนำชี้และยินยอมให้นำเครื่องจักรเข้าไปทำถนนในที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดทุ่งสง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ นายวิฑูรย์ พลาวุฑฒ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลถ้ำใหญ่ ที่ ๑ เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๑/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๓๑๐ เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๓ งาน ๕ ตารางวา เมื่อปี ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีอนุญาตให้นายจุ้น วิสุทธิคุณ ทำทางเดินผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำเครื่องจักรเข้าทำถนนสู่ลำห้วยสาธารณประโยชน์ ในปี ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีสำรวจพบว่าหลักเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามแนวเขตถนนดังกล่าวสูญหายไปตลอดแนวถนน ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรังวัดสอบเขตที่ดิน ได้รับแจ้งว่าหลักเขตที่ดินสูญหายจำนวน ๗ หลัก และแนวเขตถนนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ๒ แห่ง เนื้อที่ ๒๒๐ ตารางวา ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักฐานที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่จัดให้มีถนนสายห้วยบางเหล็กส่วนพิพาทเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ อาศัยความยินยอมของเจ้าของที่ดินทุกรายที่ประสงค์ให้มีถนนเพื่อประชาชนทั่วไปไว้ใช้ร่วมกัน จึงไม่สามารถรื้อถอนถนนให้ผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขแนวเขตถนนให้ถูกต้อง โดยให้ใช้หลักเขตตามรูปแผนที่โฉนดที่ดิน เลขที่ ๙๓๑๐
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ถนนเส้นนี้เดิมมีลักษณะเป็นที่ดินที่ประชาชนอุทิศให้ เพื่อใช้เป็นทางสู่ลำห้วยสาธารณะ ส่วนที่ดินพิพาทนั้นผู้ฟ้องคดีเป็นผู้นำชี้ตำแหน่งและยินยอมให้ใช้เครื่องจักรเข้าไปทำถนน อันเป็นการอุทิศที่ดินโดยปริยายให้เป็นทางสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กำหนดอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำของเทศบาลตำบลในการให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนลูกรังสายห้วยบางเหล็กในบริเวณที่พิพาท จึงเป็นการจัดให้มีถนนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมา เข้าลักษณะเป็นการกระทำประเภทหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขแนวเขตถนนให้ถูกต้อง โดยให้ใช้หลักเขตที่ดินตามรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๓๑๐ ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีจึงถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อย่างไรก็ดีหากข้อพิพาทในคดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาข้อหากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนเข้าสู่ลำห้วยสาธารณประโยชน์ แนวเขตถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๒๒๐ ตารางวา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขแนวเขตให้ถูกต้องตามหลักฐานที่ปรากฏของสำนักงานที่ดิน โดยให้ใช้หลักเขตที่ดินตามรูปโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๓๑๐ ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขแนวเขตถนนตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๓๑๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี ๒ แห่ง เนื้อที่ ๒๒๐ ตารางวา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแก้ไขแนวเขตถนนให้ถูกต้อง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ถนนพิพาทเดิมเป็นที่ดินที่ประชาชนอุทิศให้เพื่อเป็นทางสู่ลำห้วยสาธารณะ ทั้งผู้ฟ้องคดีนำชี้และยินยอมให้นำเครื่องจักรเข้าไปทำถนน จึงเป็นการอุทิศที่ดินโดยปริยายให้เป็นทางสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวิฑูรย์ พลาวุฑฒ์ ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีตำบลถ้ำใหญ่ ที่ ๑ เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share