คำวินิจฉัยที่ 129/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินของโจทก์บางส่วน โดยจำเลยที่ ๓ ครอบครองทำประโยชน์และสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ทั้งนำโฉนดที่ดินจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เต็มทั้งแปลง ให้ชำระค่าขาดประโยชน์ ห้ามเข้าเกี่ยวข้องและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากที่ดิน ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนอง กับให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งเจ็ดให้การโดยสรุปว่า การออกโฉนดที่ดิน การจดทะเบียนจำนองถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์บางส่วน โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๓ นำที่ดินตามโฉนดที่ดินจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๙/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดหล่มสัก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหล่มสักโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นายนิวัต วัชรขจร โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ นายธงชัย กฤตยามงคลชัย ที่ ๓ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ บริษัท เอส เอ็น เอ็น ลีสซิ่ง จำกัด ที่ ๕ นายสมชาย องค์ศรีตระกูล ที่ ๖ นางอารี ศรีประเสริฐสุข ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลจังหวัดหล่มสัก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๖/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ๔/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๑๑ ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๓๐ ตารางวา โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตตามคำสั่งศาล ต่อมาโจทก์เข้าตรวจสอบเนื้อที่ดินแปลงดังกล่าวพบว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๘๗ และเลขที่ ๑๖๘๘ ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๓ งาน ๙๒ ตารางวา และ ๓ งาน ๒๙ ตารางวา ตามลำดับ โดยจำเลยที่ ๓ ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้นำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ตามลำดับ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการออกโฉนดที่ดิน เป็นการสมรู้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ กับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่สุจริต การกระทำ ของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๑๑ เต็มทั้งแปลง ให้จำเลยที่ ๓ ชำระค่าขาดประโยชน์ในที่ดิน และห้ามจำเลยที่ ๓ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๘๗ และเลขที่ ๑๖๘๘ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ กับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๘๗ และเลขที่ ๑๖๘๘ ถูกต้อง ตามกฎหมายและระเบียบแล้ว โดยมิได้สมคบรู้เห็นกับจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ กระทำผิดกฎหมาย ส่วนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๗ ให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากขณะประมูลซื้อที่ดิน โจทก์ทราบอยู่แล้วว่ามีเนื้อที่ไม่ครบถ้วนตามที่ปรากฏใน น.ส. ๓ ก. จำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ ๗ ได้ออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันก่อนที่จะออกโฉนดที่ดิน โจทก์รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๔ รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ ๓ โดยสุจริต เปิดเผยและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๖๘๘ ที่จำเลยที่ ๕ รับจำนองไม่มีส่วนใด เป็นของโจทก์และที่ดินของโจทก์มิได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่รับจำนอง จำเลยที่ ๕ รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๘๗ ซึ่งขณะขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๑๑ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงเสียสิทธิครอบครองในส่วนที่โจทก์อ้างว่าออกโฉนดที่ดินรุกล้ำ โจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหล่มสักพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของใคร จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้กรณีมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาหนึ่งในการที่จะพิจารณาว่า การออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ถึงจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นเอกชน ก็เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๑๑ ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ ๘ ไร่ ๓๐ ตารางวา โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตตามคำสั่งศาล ต่อมาโจทก์เข้าตรวจสอบเนื้อที่ดินพบว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๘๗ และเลขที่ ๑๖๘๘ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินของโจทก์บางส่วน โดยจำเลยที่ ๓ ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ทั้งได้นำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการออกโฉนดที่ดินเป็นการสมรู้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ กับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๑๑เต็มทั้งแปลง ให้จำเลยที่ ๓ ชำระค่าขาดประโยชน์ ห้ามจำเลยที่ ๓ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องและรื้อถอน สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากที่ดิน ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๘๗ และเลขที่ ๑๖๘๘ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองกับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๓ และที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ ๗ ได้ออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การโดยสรุปว่า ได้รับจำนองที่ดินโดยสุจริต เปิดเผยและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยสุจริต จำเลยที่ ๖ ให้การว่า ขณะขอออกโฉนดที่ดินเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงเสียสิทธิครอบครอง โจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของโจทก์บางส่วน โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๓ นำที่ดินตามโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนิวัต วัชรขจร โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ นายธงชัย กฤตยามงคลชัย ที่ ๓ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๔ บริษัท เอส เอ็น เอ็น ลีสซิ่ง จำกัด ที่ ๕ นายสมชาย องค์ศรีตระกูล ที่ ๖ นางอารี ศรีประเสริฐสุข ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share