แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีขยายเขตทางหลวงรุกล้ำ เข้ามาในที่ดินก่อสร้างและขยายเขตทางหลวงชิดแนวรั้วของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งให้ยกเลิกการใช้ถนนส่วนที่ตัดผ่านที่ดิน ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามระงับการก่อสร้างใดๆ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ (เดิม) กรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมือง ใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๘/๒๕๕๗
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปทุมธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ นางวิมล อุ่นจิตติ โดยนางสาวจุรี อุ่นจิตติ ผู้อนุบาล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมทางหลวงที่ ๑ แขวงการทางปทุมธานีที่ ๒ หมวดการทางปทุมธานี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ตำบลบางพูน อำเภอบางกะดี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๓ ตารางวา โดยผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินจากนางสะอิ้ง ไสวแสนยากร ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินดังกล่าวนั้น ได้มีถนนสายยุทธศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อราชการทหารตัดผ่านที่ดินพิพาทอยู่แล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าถนน มีความกว้างแค่รถยนต์สามารถวิ่งสวนกันได้และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๒๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำการขยายเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องให้ชดเชยค่าที่ดินที่เสียไป แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย หลังจากนั้นประมาณปี ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างและขยายเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ จาก ๒ ช่องทางจราจรเป็น ๔ ช่องทางจราจร ชิดแนวรั้วของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยพลการ ทำให้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๖๘ ของผู้ฟ้องคดีถูกตัดเป็นแนวถนนเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ๑ งาน ๙๗ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ให้ยกเลิกการใช้ถนนส่วนที่ตัดผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีพร้อมกับส่งมอบที่ดินตามสภาพเดิมคืน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกเฉย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดออกจากที่ดินพิพาทภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันนำท่อประปาคอนกรีตมาวางบนที่ดินพิพาท นอกจากนั้นในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบบ้านเช่าในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๖๘ พบว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้สร้างถนนรุกล้ำที่ดินทางด้านทิศใต้ของผู้ฟ้องคดี กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินด้านติดคลองรังสิตและนำหลักหมุดเขตทางหลวง (ขทล.) มาปักบนแนวเขตที่ดิน โดยรุกล้ำจากแนวถนนเข้ามาไม่ต่ำกว่า ๑๒ เมตร ผู้ฟ้องคดี เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่เคยอนุญาตโดยตรงหรือโดยปริยายให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สอยที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามสร้างถนนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ของผู้ฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามระงับการก่อสร้างใดๆ และร่วมกันรื้อถอนถนนและหมุดหลักเขตขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ (เดิม) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับมอบทางสายดังกล่าวจากจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ปี ๒๔๘๕และได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์เป็นทางหลวงและบำรุงรักษามาตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทางหลวง กรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) โดยก่อสร้างหรือปรับปรุงในเขตทางเดิมไม่มีการเวนคืนหรือขยายเขตทางดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ จากผู้อื่นเมื่อปี ๒๕๑๒ เป็นเวลาภายหลังจากที่กรมทางหลวงได้รับมอบทางสายดังกล่าวมาโดยชอบแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีมิได้แสดงสิทธิในที่ดินส่วนที่อยู่ในเขตทางมาตั้งแต่เดิม การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม จึงไม่เป็นละเมิด ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีเป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใดๆ สนับสนุน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีนั้นมิใช่เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการกระทำละเมิดทางกายภาพ ประกอบกับประเด็นหลักของคดีนี้เป็นเรื่องที่คู่กรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ว่าที่ดินบริเวณที่พิพาทนั้นเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของคดีนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ (ปัจจุบันรวมอยู่ในทางหลวงหมายเลข ๓๔๕) ตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่กำหนดในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการขยายเขตทางหลวงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๕๖๘ ของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามระงับการก่อสร้างใดๆ และร่วมกันรื้อถอนถนนและหมุดหลักเขต ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวและทำให้ที่ดินดังกล่าวมีสภาพดังเดิม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะแย้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างว่าไม่ได้กระทำละเมิด กรณีจึงไม่อาจฟังข้อยุติได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและเจ้าของกรรมสิทธิ์คนก่อน แม้การฟ้องคดีนี้จะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในที่ดิน แต่ศาลจำต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหลัก คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขยายเขตทางหลวงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ก่อสร้างและขยายเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ ชิดแนวรั้วของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ยกเลิกการใช้ถนนส่วนที่ตัดผ่านที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกเฉย ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดออกจากที่ดินพิพาทและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยังร่วมกันนำท่อประปาคอนกรีตมาวางบนที่ดินพิพาท ทั้งยังก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินทางด้านทิศใต้ของผู้ฟ้องคดี ยาวตลอดแนวที่ดินด้านติดคลองรังสิตและนำหลักหมุดเขตทางหลวง (ขทล.) มาปักบนแนวเขตที่ดิน การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่เคยอนุญาตโดยตรงหรือโดยปริยายให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สอยที่ดิน ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามระงับการก่อสร้างใดๆ และร่วมกันรื้อถอนถนนและหมุดหลักเขตขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๖๘ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๑๐๐ (เดิม) ได้รับมอบทางสายดังกล่าวจากจังหวัดปทุมธานี และได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์เป็นทางหลวงและบำรุงรักษามาตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทางหลวง กรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) โดยก่อสร้างหรือปรับปรุงในเขตทางเดิมไม่มีการเวนคืนหรือขยายเขตทางดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่เป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางวิมล อุ่นจิตติ โดยนางสาวจุรี อุ่นจิตติ ผู้อนุบาล ผู้ฟ้องคดี กรมทางหลวงที่ ๑ แขวงการทางปทุมธานีที่ ๒ หมวดการทางปทุมธานี ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ