แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. และ ส. เจ้ามรดกฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เจ้ามรดกทั้งสองโอนที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจาก ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของ ส. โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อนแต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พพ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1088, 45266, 75156, 20772, 20773, 17290, 27797, 27798, 2165 ใบแทนตราจองเลขที่ 216, 222 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3185 ให้กลับมาเป็นชื่อนายวินิจ ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง และกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 รับมรดกเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวินิจ และนางสุนีย์ ซึ่งมีบุตรด้วยกันทั้งหมด 5 คน คือ โจทก์ทั้งสอง นายยงยุทธ นายวุฒิชัย (ถึงแก่กรรม) และจำเลยที่ 1 ระหว่างสมรสนายวินิจกับนางสุนีย์มีทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลงและสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2546 นางสุนีย์ได้ถึงแก่ความตาย นายวินิจเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนีย์ รวมทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ไปตั้งแต่ปี 2546 เรื่อยมาจนถึงครั้งสุดท้ายในปี 2551 ครั้นวันที่ 23 เมษายน 2554 นายวินิจถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองจึงร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้อกฎหมายของโจทก์ทั้งสองว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวินิจและนางสุนีย์เจ้ามรดก ฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้รับโอนมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากเจ้ามรดกทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากนายวินิจซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนีย์โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และนายวินิจในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของนางสุนีย์โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อน แต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบอันเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดก และการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่แล้ว คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ