คำวินิจฉัยที่ 113/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

จำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม โดยไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลตนเองอันจะถือได้ว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๑๓ /๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

เรื่อง การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐

ศาลแขวงสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงสงขลาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การและศาลทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจโดยศาลที่ส่ง ความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องนายภิรมย์ ชอบหวาน ที่ ๑ สำนักงานประกันสังคม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแขวงสงขลา เป็นคดีหมายเลข ดำที่ ๗๔๖/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กล-๑๒๒ สงขลาไว้จากผู้เอาประกันภัย วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ ผู้เอาประกันภัยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กล-๑๒๒ สงขลา ไปตามถนนสายกาญจนวนิช จากอำเภอหาดใหญ่มุ่งหน้าเข้าเมืองสงขลาเมื่อถึง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยทักษิณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน กข-๓๑๙๑ สตูล มาทางด้านหลังด้วยความประมาทโดยไม่ได้ขับรถเว้นระยะห่างจากรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไว้พอสมควร ทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับมาเสียหลักพุ่งชนท้ายรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ด้านหน้าได้รับความเสียหายจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กข-๓๑๙๑ มีฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้จ้างวาน หรือมีคำสั่งให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ โจทก์เสียค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่เป็นเงิน ๗๓,๙๕๐ บาท จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์ได้ตามกฎหมาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๗๓,๙๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ความเสียหายไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ ๑ โดยตรง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง แต่ในวันเกิดเหตุมีฝนตกและผู้ขับรถยนต์ทะเบียน กล-๑๒๒ สงขลา ได้หยุดรถกะทันหันทำให้รถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ไปชนท้ายรถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงเป็นความประมาทของผู้ขับรถยนต์ทะเบียน กล-๑๒๒ สงขลาโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์ทะเบียน ขต ๘๕๒๕ ซึ่งขับมาชนท้ายรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ทำให้รถยนต์กระเด็นไปข้างหน้าไปชนรถยนต์คันที่ทำประกันภัยไว้กับโจทก์ การชน ดังกล่าวไม่ได้รุนแรง จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกันอนึ่ง การที่โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองขอให้ยกฟ้อง
ศาลแขวงสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กข-๓๑๙๑ สตูล จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็น หน่วยงานของรัฐและเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะตัวแทนไปกระทำการตามวัตถุประสงค์หรือตามที่ได้รับมอบหมาย ตามคำฟ้องเป็นการขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดทางกายภาพในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือการละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าตามกฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้หาใช่เป็นการฟ้องคดีเนื่องจากยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ. ศ. ๒๕๓๙ อันอยู่ในเขตอำนาจของ ศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงาน ขับรถยนต์สังกัดจำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำการโดยประมาทเลินเล่อขับรถยนต์ไปชนท้ายรถยนต์ของบุคคลอื่นที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งการที่จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานขับรถยนต์ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบและมีสิทธินำรถยนต์ของทางราชการออกไปใช้เพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับ มอบหมายอันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจ เมื่อเกิดเหตุหรือความเสียหายขึ้น ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวจึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และโดยที่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ. ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลอื่น มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดนั้นหากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติอาจถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายแล้วจึงรับช่วงสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนจำต้องอาศัยคำบังคับของศาลปกครอง ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับ ศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว …” และมาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติว่า “ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาโดยอนุโลม” ประกอบกับ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกข้อบังคับซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยในข้อ ๒๘ บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ … คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” และข้อ ๒๙ บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๑) เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้อง (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ (๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า การพิจารณาไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป”
ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กล-๑๒๒ สงขลารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทำละเมิดขอให้ใช้เงินแก่โจทก์ ขอให้ จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง โดยโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลแขวงสงขลาและศาลปกครองสงขลา มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล โดยศาลแขวงสงขลาเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของ ศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ โต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่าหากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ใน เขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม แต่การโต้แย้ง เขตอำนาจศาลในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การโดยไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะจึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ เป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็น ของตนเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการทำเป็นคำร้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และมิใช่เป็นกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ มิได้กระทำตามวิธีการ ที่กฎหมายกำหนด ทั้งไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลตนเอง อันจะถือได้ว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องของศาลแขวงสงขลาไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share