คำวินิจฉัยที่ 111/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นพนักงานตำแหน่งสถาปนิกระดับ ๘ แผนกออกแบบอาคาร กองสถาปัตยกรรม ฝ่ายออกแบบและบริหารงานก่อสร้าง รับผิดตามสัญญาการลาศึกษาหรือไปศึกษานอกเวลา เพื่อศึกษาในระดับคุณวุฒิปริญญาเอก สาขาก่อสร้าง ที่มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ หลักสูตร ๔๘ เดือน ณ ประเทศสก๊อตแลนด์ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาการลาศึกษาหรือไปศึกษานอกเวลาพิพาท เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนิยาม “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนสัญญาการลาศึกษาหรือไปศึกษานอกเวลา ฉบับพิพาทดังกล่าวก็มีวัตถุประสงค์หลักให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปศึกษาเพื่อนำความรู้ที่ได้รับกลับมาดำเนินกิจการเพื่อสนับสนุนภารกิจของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สำหรับสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

Share