แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทเดิมค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนต่อโจทก์ก่อนโอนขายให้จำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างด้วยในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม โดยผลแห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 45 การที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระมาตั้งแต่จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของ ไม่ใช่เรื่องที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ศาลจึงจะพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระนั้นต่อจำเลยที่ 3 ให้เสร็จไปในคดีเดียวกันตามมาตรา 477 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันใช้เงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีและค่าภาษีเพิ่มแก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายและดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรือนตามที่โจทก์ฟ้องจริง และรับว่าไม่ได้ชำระค่าภาษีให้โจทก์ตามกำหนดเกินกว่า 4 เดือนแล้ว จึงไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มร้อยละสิบโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ซื้อที่ดินและโรงเรือนมาโดยสุจริตไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 ติดค้างภาษีโรงเรือนอยู่ จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 ไม่ได้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยขาดอายุความแล้ว และยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายพิชิต และนางอุรา จุรีเกษ ผู้ขายโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นหมายเรียกบุคคลทั้งสองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและเรียกว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงเรือนส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือน การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสียภาษีโรงเรือนไม่เป็นการรอนสิทธิ์ จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกจำเลยที่ 4 ที่ 5เข้าเป็นจำเลยร่วม ขอให้ยกฟ้อง และยกคำร้องของจำเลยที่ 3ที่ให้เรียกจำเลยที่ 4 ที่ 5 เข้ามาในคดี
เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว จำเลยที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่าศาลต้องกะประเด็นพิพาทอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 หรือไม่เพียงใด ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,103,703.87 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 978,918.73 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่เพิ่มประเด็นข้อพิพาทและยกคำร้องของจำเลยที่ 3 เสีย ให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมว่า จำเลยที่ 4ที่ 5 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 หรือไม่เพียงใด ส่วนอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อจำเลยที่ 3 สำหรับจำนวนที่จำเลยที่ 3 ต้องชำระให้โจทก์และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 3โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 5 เป็นเงิน 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีเพียงว่าจำเลยที่ 4 รวมเป็นเจ้าของหรือไม่และจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดหรือร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระต่อโจทก์ในปี 2514 ถึง 2522 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 4 ร่วมเป็นเจ้าของอาคารพิพาทก่อนจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2521 แม้พยานโจทก์บางคนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของโจทก์จะเบิกความไปตามความเข้าใจของตนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารพิพาทดังจำเลยที่ 4 ฎีกาก็ตามแต่จากเอกสารและเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมเป็นเจ้าของอาคารพิพาทด้วยมากกว่า ดังนั้นจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนของอาคารพิพาทที่ค้างชำระต่อโจทก์ระหว่าง พ.ศ. 2514ถึง พ.ศ. 2519 ก่อนมีการขายให้จำเลยที่ 3 แต่เนื่องจากภาษีโรงเรือนดังกล่าวเป็นภาษีโรงเรือนค้างชำระ ดังนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนพิพาทจึงต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างด้วย โดยผลแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 45 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม
ปัญหาต่อไปมีว่า ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับแรกที่ให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 3 เพียงใด มาในฎีกาฉบับเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปคราวเดียวกันจำเลยที่ 4 ฎีกาในส่วนนี้เป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นจำเลยด้วยกันโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตั้งสิทธิเรียกร้อง ไม่ได้ทำเป็นคำฟ้องและไม่มีคำขอบังคับระหว่างจำเลยด้วยกัน อีกทั้งจำเลยที่ 3ก็ไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมศาลแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า ความรับผิดในหนี้ ค่าภาษีโรงเรือนของของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามผลแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 อันอาจรวมเป็นคดีเดียวกันได้ตามมาตรา 477 ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 4 รับผิดในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนเนื่องจากเหตุการณ์รอนสิทธิ์ต่อจำเลยที่ 3ผู้ซื้อจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4ในข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยที่ 4 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้กำหนดประเด็นเพิ่มเติมอีกข้อหนึ่งนั้น เป็นการไม่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 4 นำพยานเข้าสืบได้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ไม่สั่งกำหนดประเด็นเพิ่มขึ้นดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทก็คงมีอยู่หาได้หมดสิ้นไปไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มขึ้นจึงไม่เป็นผลแก่คดีแต่อย่างใด ทั้งไม่เป็นการไม่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 4 นำสืบพยานเข้าสืบดังจำเลยที่ 4 ฎีกา เพราะจำเลยที่ 4 ก็ได้เบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลยในคดีนี้อยู่แล้ว จึงยังไม่มีเหตุจะย้อนสำนวนดังจำเลยที่ 4 ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วนศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ