แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเนื่องมาจากเดิมผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีตกลงทำสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/ โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตร เมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดีประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์ของผู้ฟ้องคดีต่อไป จึงขอเช่าใช้ทรัพย์สินและระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรของผู้ฟ้องคดี โดยตกลงร่างเป็นสัญญาให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศฉบับใหม่ แต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงชำระค่าใช้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับเดิม แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระค่าใช้บริการตามอัตราในร่างสัญญาฉบับใหม่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี และมีประเด็นต้องพิจารณาว่าข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามข้อตกลงให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศฉบับใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดี ให้การว่า ได้ชำระค่าใช้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิมครบถ้วนแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าใช้บริการตามข้อตกลงที่กล่าวอ้าง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตรระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซี่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๘/๒๕๕๗
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง บริษัทเลนโซ่ โฟนการ์ด จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๒๗/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗ การสื่อสารแห่งประเทศไทยและผู้ถูกฟ้องคดีตกลงทำสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตร โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่นำบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของผู้ฟ้องคดีไปให้บริการผ่านเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร ต่อมาการสื่อสารแห่งประเทศไทยแปลงสภาพเป็นบริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีได้รับโอนบรรดากิจการ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด และสินทรัพย์ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาดำเนินการให้บริการฯ โดยผลของกฎหมาย เมื่อสัญญาดำเนินการให้บริการฯ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องส่งมอบระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ ๑ จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) (ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีชื่อย่อว่า “กสทช.”) ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจให้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และมีความประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์ระบบ Premium และระบบ VoIP ของผู้ฟ้องคดี เพื่อนำไปใช้บริการบัตรโทรศัพท์แก่ผู้ใช้บริการของตนเองตามเงื่อนไขในใบอนุญาต และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงขอเช่าใช้ทรัพย์สินและระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรของผู้ฟ้องคดี พร้อมทั้งขอให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของผู้ฟ้องคดีเพื่อนำไปให้บริการต่อเป็นบริการของผู้ถูกฟ้องคดีเอง โดยผู้ฟ้องคดีได้กำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศในอัตราขายส่งให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์ในการให้บริการกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. และผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ร่วมกันจัดทำร่างสัญญาให้บริการโทรศัพท์ มีกำหนดเวลา ๓ ปี คือตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ และเตรียมพร้อมที่จะลงนามร่วมกันระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้ยอมรับร่างสัญญาให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและอัตราค่าบริการแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการลงนามกัน แต่ก็ได้มีการถือปฏิบัติต่อกัน ต่อมาการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตรมีปริมาณการใช้งานลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ยอดค่าใช้บริการในแต่ละเดือนของผู้ถูกฟ้องคดีต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ได้ตกลงไว้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงชำระค่าใช้บริการตามการใช้งานจริง โดยไม่ชำระค่าใช้บริการในอัตราขั้นต่ำคือ ๗๕๐,๐๐๐ บาท ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาให้บริการโทรศัพท์ และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งขอยุติการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศแบบใช้บัตร โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งขอสงวนสิทธิ์เรียกเก็บค่าใช้บริการตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้จนกว่าจะมีการแจ้งยกเลิกข้อตกลงและไม่มีการเรียกใช้งานจากหมายเลขที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ให้บริการ และผู้ฟ้องคดีได้จัดส่งใบแจ้งค่าใช้บริการค้างชำระไปเรียกเก็บเงินจากผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งได้แก่ ค่าใช้บริการตามจริง ค่าใช้บริการอัตราขั้นต่ำ (กรณีใช้บริการไม่ถึงอัตราขั้นต่ำ) ค่าใช้คู่สาย ยอดปรับปรุงค่าใช้บริการ (หากมี) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และยอดรวมของเงินที่ต้องชำระ รวมเป็นหนี้ค่าบริการค้างชำระเป็นเงิน ๖,๔๕๒,๙๘๑.๘๘ บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ค่าใช้บริการให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๖,๔๕๒,๙๘๑.๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือน ของต้นเงินที่ค้างชำระหรือชำระล่าช้าดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี นับแต่วันครบกำหนดชำระตามใบแจ้งค่าใช้บริการถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ชำระเงินให้ผู้ฟ้องคดีครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาให้บริการโทรศัพท์ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๗,๙๑๖,๒๗๗.๙๘ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ชำระค่าใช้บริการรายเดือนตามที่ลูกค้าได้ใช้บริการให้แก่ผู้ฟ้องคดีครบถ้วนแล้ว ในระหว่างอายุสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตรระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องและไม่ได้ค้างชำระค่าใช้อุปกรณ์ และเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดีแสดงความประสงค์ที่จะขอใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรศัพท์ในระบบต่อไป จึงได้มีการยกร่างสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรศัพท์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี แต่ยังไม่มีการลงนาม เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าใช้ทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะคิดค่าใช้บริการขั้นต่ำที่ ๗๕๐,๐๐๐ บาท และเงื่อนไขบางประการซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีจึงชำระค่าบริการตามที่ได้ใช้งานจริงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับเดิมซึ่งไม่มีการคิดค่าเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรศัพท์สาธารณะและไม่มีการคิดค่าใช้บริการขั้นต่ำ ผู้ฟ้องคดีไม่สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าใช้บริการในส่วนที่ใช้งานไม่ถึงจำนวนเงินขั้นต่ำ ๗๕๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากไม่มีข้อตกลงและยังไม่มีการลงนามในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อเรียกว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยการเปลี่ยนทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นและจัดตั้งผู้ฟ้องคดีและบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขึ้นโดยผู้ฟ้องคดีได้รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดมาเป็นของผู้ฟ้องคดีในวันที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเพื่อดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ วรรคสาม และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา ๔ (ข) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ และเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และยังคงมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการทางด้านโทรคมนาคมทุกลักษณะ ทุกประเภท รวมถึงกิจการที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกันหรือที่เกี่ยวกับหรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่การประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการทางด้านโทรคมนาคมดังกล่าวทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศและนอกประเทศ ทั้งผู้ฟ้องคดียังคงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ และกฎหมายอื่น รวมทั้งหากมีกฎหมายใดมีบทบัญญัติให้ผู้ฟ้องคดีได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว หรือได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว หรือมีบทบัญญัติให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีก็ยังคงได้รับการยกเว้นและมีสิทธิพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการโทรคมนาคม ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๗/๒๕๕๐ เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาการให้บริการโทรศัพท์แบบใช้บัตรไม่ชำระค่าใช้บริการพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นสัญญาที่บุคคลผู้กระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะด้านกิจการโทรคมนาคมตามอำนาจหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙๑/๒๕๕๖ และที่ ๑๐๔/๒๕๕๖
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีอ้างว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีแต่เดิมถือตามสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตร เมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ร่วมจัดทำร่างสัญญาให้บริการโทรศัพท์ฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่มีการลงนามกัน แต่ก็ได้มีการถือปฏิบัติต่อกันแล้ว เมื่อพิเคราะห์สัญญาฉบับเดิมข้อ ๑๔.๑๔ ได้กำหนดให้กรณีมีข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ดังนี้เห็นว่าสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเคยกระทำต่อกัน มีลักษณะเป็นสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันโดยสมัครใจบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและเป็นการทำนิติกรรมสัญญาระหว่างคู่สัญญาที่มีฐานะเป็นเอกชนเท่าเทียมกัน สัญญามีลักษณะเป็นสัญญาธรรมดาที่สนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นกิจการบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีผู้ฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น คดีนี้ได้ความว่า สัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีสิ้นสุดลง คู่สัญญาจึงตกลงร่างสัญญาฉบับใหม่ขึ้นแต่ยังไม่มีการลงนาม เห็นว่า ลักษณะของร่างสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีน่าจะมีลักษณะเดียวกันกับสัญญาฉบับเดิมที่ได้หมดอายุลง จึงเห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) กรณีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เดิมผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีตกลงทำสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตร โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่นำบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของผู้ฟ้องคดีไปให้บริการผ่านเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร ทั้งนี้ เมื่อสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ฯ สิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องส่งมอบระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะให้แก่ผู้ฟ้องคดี ต่อมาเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดีประสงค์จะใช้บริการโทรศัพท์ของผู้ฟ้องคดี เพื่อนำไปใช้บริการบัตรโทรศัพท์แก่ผู้ใช้บริการของตนเองจึงขอเช่าใช้ทรัพย์สินและระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงร่วมจัดทำร่างสัญญาให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศฉบับใหม่ ซึ่งยังไม่มีการลงนามกัน แต่ก็ได้มีการถือปฏิบัติต่อกันแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชำระค่าใช้บริการตามอัตราข้อตกลงดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าใช้บริการตามข้อตกลงที่กล่าวอ้าง เนื่องจากไม่มีข้อตกลงและยังไม่มีการลงนามในสัญญา โดยได้ชำระค่าใช้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับเดิมครบถ้วนแล้ว ดังนั้น กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี และมีประเด็นต้องพิจารณาว่าข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่า เมื่อสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตร โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่นำบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของผู้ฟ้องคดีไปให้บริการผ่านเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรแก่ประชาชนเป็นบริการสาธารณะทั่วประเทศ และจะต้องจัดหาและติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ในการให้บริการ รวมถึงจัดหาเลขหมายโทรศัพท์ ช่องสัญญาณ คู่สายหรือข่ายเชื่อมโยงในการให้บริการ ทั้งนี้ เมื่อสัญญาดำเนินการให้บริการฯ สิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องส่งมอบระบบให้บริการโทรศัพท์สาธารณะให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น สัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตรระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญเพื่อดำเนินการให้บริการทางด้านโทรคมนาคมแก่ประชาชนตามภารกิจในการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมอันเป็นภารกิจหลักของผู้ฟ้องคดีบรรลุผล สัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชำระหนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามข้อตกลงให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศฉบับใหม่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ได้ชำระค่าใช้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับเดิมครบถ้วนแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระหนี้ค่าใช้บริการตามข้อตกลงที่กล่าวอ้าง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์/โทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศสาธารณะแบบใช้บัตรระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี บริษัทเลนโซ่ โฟนการ์ด จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ