คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอท้ายฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์กล่าวว่า โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 325, 83 ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาต่อไป ดังนี้ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันปิดกั้นรางระบายน้ำสาธารณ เป็นเหตุให้น้ำไหลเข้าออกไม่ได้ตามปกติ ขัดข้องแก่การทำนาของราษฎร เหตุเกดที่ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนครเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๕, ๘๓ ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในข้อ ๖ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์มิได้มีข้อความที่ขอให้ลงโทษจำเลย ศาลจะลงโทษจำเลยไม่ได้
ศาลอุทรธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำของจำเลยและในคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๕, ๘๓ อ้างกฎหมายดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไป ดังนี้ ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๕ เป็นบทบัญญัติถึงความผิดของการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์บรรยายมาในฟ้องและกำหนดโทษไว้ด้วย การที่โจทก์ส่งตัวจำเลยมาขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปนั้น ก็คือ ขอให้ศาลพิจารณาโทษจำเลยตามโทษานุโทษซึ่งได้กำหนดไว้ในบทมาตราที่อ้างมานั่นเอง จึงถือได้ว่า โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว พิพากษายืน.

Share