แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ลูกจ้างยื่นฟ้องสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)นายจ้างว่า ได้ออกประกาศกำหนดโครงสร้างองค์กรใหม่จัดแบ่งส่วนงานมีผลให้ยุบเลิกตำแหน่งและมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานหรือขอให้รับกลับเข้าทำงานโดยได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิมและขอให้จ่ายค่าชดเชยกับค่าเสียหายอื่น ๆ ผู้ถูกฟ้องให้การว่า การปรับโครงสร้างองค์กรเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้ออกระเบียบ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอันเป็นประโยชน์ตอบแทนสำหรับการเลิกจ้าง จึงไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนมาใช้บังคับนั้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างไม่เป็นการจ้างแรงงานไม่ การที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๗/๒๕๕๗
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายศุภกิจ แดงประเสริฐ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๘๒/๒๕๕๕ และเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายศุภกิจ แดงประเสริฐ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๒ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๘/๒๕๕๕ ศาลสั่งให้รวมทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนแรกเป็นสำนวนหลัก และให้เรียกผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๓ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารระบบคอมพิวเตอร์อาวุโส ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งมีคำสั่งที่ ๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน โดยอ้างว่าในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ออกประกาศสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ ๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๕ กำหนดโครงสร้างองค์กรและจัดแบ่งส่วนงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใหม่ อันมีผลให้มีการยุบเลิกตำแหน่งของเจ้าหน้าที่และส่วนงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม จึงไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ ซึ่งในกรณีของผู้ฟ้องคดีสัญญาจ้างเกิดขึ้นโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุมัติจ้างตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการจ้างให้จัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจภายใต้วัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานและจ่ายเงินเดือนตกเบิก เงินสำรองเลี้ยงชีพ เงินเลื่อนขั้นประจำปี ดอกเบี้ย รวมถึงเงินอื่นๆ ที่ยังไม่ได้จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์จึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้นั้นถือว่าผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน และให้มีผลให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานเช่นเดิม โดยได้รับสิทธิประโยชน์ ตำแหน่งและเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินค่าชดเชยตามกฎหมายพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า การปรับโครงสร้างองค์กรและการแบ่งส่วนงานใหม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบตามสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีข้อสังเกตเป็นเหตุให้เลิกจ้างผู้ฟ้องคดี เพราะไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ แต่ในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยังไม่ได้ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอันเป็นประโยชน์ตอบแทนสำหรับการเลิกจ้าง และยังไม่มีการกำหนดงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดเชย จึงไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีได้ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เห็นชอบแนวทางการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างขององค์การมหาชน ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ออกระเบียบว่าด้วยเงินตอบแทนแก่ผู้ถูกเลิกจ้างใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ โดยไม่มีผลย้อนหลัง คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามข้อบังคับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงไม่อาจออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังให้แก่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานและไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยหรือเงินตอบแทนลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ไม่มีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้าง และการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีข้อพิพาทไม่จำต้องระงับข้อพิพาทโดยองค์คณะที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างดังเช่นในคดีแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กับผู้ฟ้องคดี จึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานบริการสาธารณะกับหน่วยงานทางปกครอง ข้อตกลงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีคู่สัญญาฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการทำสัญญาจ้างบุคคลผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็เป็นเพียงวิธีการในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานอันเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการบริหารงานบุคคลตามที่คณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้การดำเนินการบริหารงานบุคคลเป็นไปด้วยความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ หาใช่เป็นการสละอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองหรือยอมลดฐานะของตนลงในการเข้าทำสัญญาจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้มีฐานะเท่าเทียมกันกับพนักงานหรือลูกจ้างอันมีผลทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นสัญญาทางปกครองแต่อย่างใด เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยอ้างว่ามีการยุบเลิกส่วนงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม ไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเช่นเดิมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติว่า กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เห็นว่า แม้กิจการขององค์การมหาชน ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น แต่นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็มาจากสัญญาจ้างเข้าทำงาน กรณีมิใช่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่ากิจการของโครงการมหาชนไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานทั่วไปเท่านั้น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑)
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน โดยออกประกาศกำหนดโครงสร้างองค์กรและจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ใหม่ มีผลให้ยุบเลิกตำแหน่งและส่วนงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม ไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับอุทธรณ์เนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลา ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานหรือให้กลับเข้าทำงานโดยได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิม และร่วมกันชดใช้เงินค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า การปรับโครงสร้างองค์กรและการแบ่งส่วนงานใหม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ในขณะนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยังไม่ได้ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอันเป็นประโยชน์ตอบแทนสำหรับการเลิกจ้าง และยังไม่มีการกำหนดงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดเชย และมิได้จงใจละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควรแต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ระเบียบและตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งผู้ฟ้องคดีมิได้ร้องทุกข์ตามข้อบังคับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงไม่อาจออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังให้แก่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานและไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยหรือเงินตอบแทนในลักษณะเดียวกันให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติว่า กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวเพียงกำหนดไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนมาใช้บังคับนั้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างไม่เป็นการจ้างแรงงานไม่ การที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายศุภกิจ แดงประเสริฐ ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๒ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ