คำวินิจฉัยที่ 106/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเดิมเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งอาจารย์ ให้รับผิดตามสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ถูกเลิกจ้าง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชดใช้ทุนการศึกษาและเบี้ยปรับแก่โจทก์ เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน พิพาทกันในเรื่องสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๖/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โจทก์ ยื่นฟ้องนางสาวปิยะอร เอี่ยมประสิทธิ์ ที่ ๑ นางสาวบุษกร เอี่ยมประสิทธิ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๕/๒๕๕๕ ความว่า เดิมจำเลยที่ ๑ สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์รายปีของโจทก์ และต่อมาเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนประจำของสถาบันภาษาของโจทก์ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้ขอทุนไปศึกษาต่อ โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท ที่ประเทศออสเตรเลีย มีกำหนดเวลา ๑ ปี ๖ เดือน โดยทำสัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ ๑ กลับเข้าทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งอาจารย์ประจำ เพื่อเป็นการชดใช้ทุนการศึกษา แต่ในระหว่างระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการได้เคยทำหนังสือตักเตือนจำเลยที่ ๑ ในเรื่องการมาทำงานสาย การขาดสอนแต่ลงชื่อมาสอนในแบบฟอร์ม และการไม่มาคุมสอบ แต่จำเลยที่ ๑ ก็ยังไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นแต่อย่างใด จนในที่สุดผู้อำนวยการได้รายงานโจทก์ โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการได้เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ ๑ ปรับปรุงตัวเป็นเวลา ๑ เดือน โดยได้ทำหนังสือตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๑ ก็ไม่ปรับปรุงแก้ไข ยังขาดงานติดต่อกันเกิน ๓ วัน โจทก์จึงมีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ พ้นสภาพการเป็นพนักงาน โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินทุนการศึกษาและค่าปรับแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญาให้ทุนและไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับ ทั้งคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงาน และผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ คำสั่งเลิกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ต้องชดใช้เงินทุนการศึกษา และเบี้ยปรับแก่โจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๙๗/๒๕๕๔ ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน ได้ทำสัญญาให้ทุนการศึกษาแก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำที่สถาบันภาษาของโจทก์ แต่โดยที่โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับโจทก์เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เงินทุนที่จำเลยที่ ๑ รับไปเป็นเงินของมหาวิทยาลัยเอกชน มิได้เป็นงบประมาณของแผ่นดิน อีกทั้งคดีนี้จะต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการผิดสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีพิพาทจึงไม่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับนิติกรรมอันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม สำหรับสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาให้ทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ อันเป็นสัญญาหลัก ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การให้ทุนการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนา ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ส่วนหนึ่งจึงเป็นเงินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐ และเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่กำหนดไว้ มิใช่เรื่องการบริหารงานภายในของโจทก์ที่จะดำเนินการได้โดยอิสระแต่เพียงฝ่ายเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ประพฤติผิดสัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ และต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญา ส่วนจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศและสัญญาค้ำประกัน สัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศที่เป็นมูลพิพาทในคดีนี้เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายโจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยที่ ๑ กลับมาปฏิบัติงานเพื่อบริการสาธารณะด้านการศึกษาของรัฐตามระยะเวลาที่กำหนด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ แม้จะเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากจากสัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศก็ตามแต่สัญญาค้ำประกันมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว สัญญาค้ำประกันจึงมีลักษณะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาของอาจารย์ประจำที่รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศที่เป็นสัญญาประธาน ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงเป็นสัญญาทางปกครองและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองด้วยเช่นกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเดิมเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนประจำของสถาบันภาษา ให้รับผิดตามสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ถูกเลิกจ้าง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชดใช้ทุนการศึกษาและเบี้ยปรับแก่โจทก์ เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน พิพาทกันในเรื่องสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ อันเป็นนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โจทก์ นางสาวปิยะอร เอี่ยมประสิทธิ์ ที่ ๑ นางสาวบุษกร เอี่ยมประสิทธิ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share