คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยเพื่อให้ที่ดินของส. บุตรชายของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเมื่อที่ดินของจำเลยมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับโอนที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินของจำเลยไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมีข้อตกลงว่าจำเลยยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันทำสัญญาจำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไถหน้าดินในที่ดินของจำเลยออกไปถมที่ดินของโจทก์เป็นการทำละเมิดต่อจำเลยกรณีเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงดังกล่าวฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ไถไร่อ้อยในที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินทำให้ไร่อ้อยได้รับความเสียหายอันเป็นไปตามสัญญาที่จำเลยตกลงยอมให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแม้จำเลยจะได้รับความเสียหายก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3996 เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน ในราคา 3,675,000 บาทกับโจทก์ และโจทก์ได้วางมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 400,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระให้จำเลยทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาระบุว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ครั้นถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์และหาทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ อันถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท ส่วนค่าเสียหายนั้นโจทก์ขอคิดเพียง 400,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้เงินในการที่ทำให้ไร่อ้อยของจำเลยได้รับความเสียหายจำนวน 40,628 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้โจทก์ถมที่ดินของจำเลยให้สูงเท่าเดิมและใส่ปุ๋ยปรับสภาพที่ดินให้ใช้ทำการเกษตรได้ดังเดิม มิฉะนั้นให้โจทก์ใช้เงินเป็นค่าเสียหายจำนวน372,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้โจทก์ชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเป็นเงินปีละ 13,260 บาท มีกำหนด 1 ปี
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ไถหน้าดินของจำเลยจำเลยได้รับความเสียหายเกี่ยวกับไร่อ้อยอย่างสูงไม่เกิน20,000 บาท โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยความยินยอมของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 270,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ และโจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญากันแล้วหรือไม่ โจทก์มีนายอรรถพร ภูริเอกทัต ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความรับว่า เหตุที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยก็เพื่อให้ที่ดินของนายสมเกียรติบุตรชายโจทก์ซึ่งอยู่แปลงถัดไปมีทางเข้าออก โดยจากทางสาธารณะมีทางเกวียนเข้าสู่ที่ดินพิพาทแสดงว่าก่อนจะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2กับจำเลย โจทก์ก็ทราบดีว่าที่ดินพิพาทมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะสำหรับพยานจำเลยนั้นได้ความว่า พยานจำเลยทุกปากเบิกความยืนยันตรงกันว่า ชาวบ้านใช้ทางเกวียนดังกล่าวเข้าออกสู่ทางสาธารณะมานานหลายสิบปีแล้วโดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะไม่มีผู้ใดหวงห้าม หลังจากนายจำลองนำไม้มาปักปิดกั้นทางจำเลยก็ดำเนินการฟ้องร้องจนศาลพิพากษาว่าทางดังกล่าวตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยโดยอายุความแล้วตามเอกสารหมาย ล.6ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตามที่จำเลยได้รับรองไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4จำเลยหาได้ผิดสัญญาในข้อนี้ไม่ ปรากฏว่าในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยได้ไปสำนักงานที่ดินแต่โจทก์ไม่ยอมรับโอนที่ดินโดยอ้างว่าที่พิพาทไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยหาได้ผิดนัดหรือผิดสัญญาไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเลิกสัญญาแก่จำเลย และตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีข้อความเรื่องการเลิกสัญญาไว้แต่อย่างใดดังนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญากันตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่าจำเลยมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในการที่โจทก์ไถหน้าดินของจำเลยออกไปถมที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและมีข้อสัญญาว่าจำเลยยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันทำสัญญา แม้การที่โจทก์ไถหน้าดินของจำเลยออกไปถมที่ดินของโจทก์จะเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยแต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายและการที่จำเลยยอมให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม และศาลชั้นต้นก็ได้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือไม่เพียงใด สำหรับความเสียหายกรณีที่โจทก์นำรถเข้าไปไถหน้าดินในที่ดินพิพาทออกไปถมที่ดินของโจทก์นั้นศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกเห็นว่าโจทก์ประกอบกิจการรับจ้างเหมาถมดินรวมกับนายสมเกียรติบุตรโจทก์ได้ขุดดินจากที่ดินของนายสมเกียรติไปถมที่อื่นที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินของนายสมเกียรติน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ได้นำรถเข้าไปไถหน้าดินในที่ดินพิพาทไปถมที่ดินของนายสมเกียรติบริเวณที่เป็นหลุมบ่อ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยเป็นเงิน 130,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายในการที่โจทก์ไถไร่อ้อยในที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินทำให้ไร่อ้อยได้รับความเสียหายนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงยอมให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 130,000 บาทแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share