คำวินิจฉัยที่ 1/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลจังหวัดชัยภูมิ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชัยภูมิส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเชนลิสซิ่ง จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร จำเลย ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๔๕/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๕กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ บริษัทเชนลิสซิ่ง จำกัด (เดิมชื่อบริษัทหน้าเมือง ธุรกิจ จำกัด) โดยนายรชต์เขตต์ โรจนมณเฑียร กรรมการผู้จัดการ ให้นางอุดม ญาติปลื้ม กู้ยืมเงินจำนวน ๓๒๓,๕๕๐ บาท และจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่ ๒๐๑๕๘ ตำบลบ้านโศก อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ของนางอุดมเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมานางอุดมผิดนัดชำระหนี้ บริษัทฯ จึงรับโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ภายหลังนางอุดมขอเช่าซื้อที่ดินดังกล่าวคืนในราคาเช่าซื้อ ๓๐๐,๐๐๐ บาท และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ บริษัทฯ ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างบริษัทฯ กับนางอุดมให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะโอนที่ดินคืนแก่นางอุดมเมื่อชำระหนี้ครบถ้วน แต่เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ จำเลยมีหนังสือยึดที่ดินของโจทก์ที่มีชื่อนายรชต์เขตต์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ด้วยเหตุนายรชต์เขตต์ค้างชำระภาษีอากร โจทก์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของนายรชต์เขตต์ จำเลยแจ้งให้โจทก์ส่งเอกสารชี้แจง โจทก์ส่งเอกสารชี้แจงแล้ว แต่จำเลยไม่ได้เรียกให้โจทก์เข้าไปชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๑ จำเลยได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาท อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการยึดและขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่ ๒๐๑๕๘ ตำบลบ้านโศก อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิหากจำเลยขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยที่ให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินค่าภาษีที่ค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดชัยภูมิพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิพาทว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดและประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นของโจทก์หรือนายรชต์เขตต์ ไม่มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรคดีของโจทก์จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร และการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์คัดค้านการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแล้วจำเลยไม่เรียกโจทก์ไปชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดว่าที่ดินไม่ใช่ของนายรชต์เขตต์ เป็นการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยยึดที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่ยอมเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วยังคงประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทต่อไปนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมิชอบหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่าจำเลยให้ส่งเอกสารแล้วจำเลยยังไม่เพิกถอนการยึดทรัพย์และยังคงดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทต่อไป ประเด็นพิพาทคงมีเพียงว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดไว้นั้นเป็นของนายรชต์เขตต์ ผู้ค้างชำระภาษีหรือโจทก์ และสมควรเพิกถอนการยึดหรือประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทหรือไม่จึงหาใช่คดีที่พิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหาใช่การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งยึดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการออกคำสั่งโดยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร อันมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และแม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อทรัพย์สินของนายรชต์เขตต์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ค้างชำระภาษีอากรของจำเลย แต่โดยที่โจทก์ได้ฟ้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยดังกล่าวโดยมีข้อพิพาทว่าจำเลยได้มีคำสั่งยึดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ มิใช่กรรมสิทธิ์ของนายรชต์เขตต์ ดังนั้น คดีนี้
จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากร ซึ่งศาลจังหวัดชัยภูมิก็มีความเห็นว่ามิใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากรเช่นเดียวกัน ประกอบกับคดีนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง โดยโจทก์เห็นว่าจำเลยกระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งยึดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาท พร้อมทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อันเป็นการฟ้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวโดยไม่ชอบ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครอง มิใช่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่ากระทำละเมิดกรณีจำเลยมีคำสั่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ ยึดและประกาศขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ที่มีชื่อนายรชต์เขตต์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างของนายรชต์เขตต์ แต่โจทก์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่ใช่ของนายรชต์เขตต์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการยึดและขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่๒๐๑๕๘ ตำบลบ้านโศก อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ หากจำเลยขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเชนลิสซิ่ง จำกัด โจทก์กรมสรรพากร จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share