แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย ผู้ตายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย หากการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย เนื่องจากที่ดินของผู้ตายที่ออกโฉนดในภายหลังต้องห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน ทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคแรก ไม่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ตายหามีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินตอบแทนไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคแรก ผู้ตายจึงต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ตายยังมิได้คืนเงิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และกรณีมีเหตุจำเป็น ประกอบกับผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนล้มละลายมาก่อน ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเฉพาะเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 6582 ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกหรือเป็นทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายตามสัญญาการซื้อขายนั้น ผู้ตายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายเท่านั้น อย่างไรก็ดีหากการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย เนื่องจากที่ดินของผู้ตายที่ออกโฉนดในภายหลังต้องห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2534 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้องก็ตาม ศาลฎีกาก็เห็นว่า ผู้ตายหามีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินตอบแทนไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ผู้ตายจึงต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ตายยังมิได้คืนเงิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ส่วนปัญหาว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และกรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องมาร้องขอดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลายมาก่อน ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และเนื่องจากเงินค่าที่ดินที่ผู้ตายต้องคืนให้แก่ผู้ร้องสืบเนื่องมาจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ฉะนั้น การตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงไม่เกินคำขอของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้องขอนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ตั้งนายทวี ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง ผู้ตาย ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานอัยการทราบด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.