คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 143/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันและจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสองศาลต่างระบบและศาลทั้งสองศาลนั้น มีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแตกต่างกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีเรื่องค่าเสียหายในทางแพ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ล. โจทก์ บริษัท ค. จำเลย (ผู้ร้อง) ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน โดยไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่พิพาทกันในคดีปกครองตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ประเด็นข้อพิพาทของทั้งสองคดีจึงไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน แม้ในคดีปกครองจะมีปัญหาข้อเท็จจริงในบางประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งว่า บริษัท ค. (ผู้ร้องสอด) ได้จัดทำถนนถูกต้องตรงตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีปกครองว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ไม่กำกับดูแล และตรวจสอบให้ ผู้ร้องสอดทำการก่อสร้างในโครงการจัดสรรที่ดินให้ถูกต้องตามแบบและแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ก็ตาม แต่ในคดีแพ่งศาลพิพากษาตามยอมโดยพิจารณาจากสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดีหรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดี มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดา ซึ่งการจะบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมของศาลนั้นก็เป็นความสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างคู่สัญญา ส่วนการที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้อำนาจตามมาตรา ๕๒ ประกอบมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ สั่งให้บริษัท ค. (ผู้ร้องสอด) ดำเนินการก่อสร้างถนนสายหลักและบ่อบำบัดน้ำเสียในโครงการให้ตรงตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้อำนาจภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นข้อพิพาทในคดีปกครองเพื่อบังคับให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ขัดแย้งกันกับคดีแพ่ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองจึงไม่ใช่ประเด็นเดียวกันและไม่ขัดแย้งกัน ทั้งปัญหากรณีที่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี คำร้องของผู้ร้องไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ ที่คณะกรรมการจะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

Share