แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 12309, 12310, 14943 และ 12609 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และบัญชีเงินฝากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี บัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุพรรณบุรี และพันธบัตรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ จำเลย และนางประภาพรรณ เป็นบุตรของนายเต้งตุ่นหรือเต็งตุ่น ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวกับนางยี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2523 นางยีถึงแก่ความตาย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย วันที่ 28 มกราคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 53/2535 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า จำเลยป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม เนื่องจากหลอดเลือดในสมองตีบ ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาล จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเข้ารับการรักษาจนหายเกือบเป็นปกติแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ผ่าตัดอาการดีขึ้นแล้ว จึงขอถอนคำร้องขอ ศาลมีคำสั่งอนุญาต ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 64/2558 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุพรรณบุรี
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 12309, 12310, 14943 และ 12609 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และบัญชีเงินฝากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี บัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุพรรณบุรี และพันธบัตรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยนำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าว โดยมิได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านใด ๆ ต่อศาลในคดีที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าบัญชีเงินฝากธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี บัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุพรรณบุรี และพันธบัตรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์เพียงแต่เบิกความลอย ๆ ซึ่งแตกต่างจากจำเลยที่นำสืบถึงรายได้ที่นำมาซื้อพันธบัตร และเก็บเป็นเงินฝากได้ จึงรับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์อ้างว่าทรัพย์สินส่วนนี้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพิพาท จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารมหาชนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่โจทก์และนางประภาพรรณเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เจ้าของที่ดินและชาวบ้านใกล้เคียงกู้ยืมเงินจากผู้ตายไปแล้วไม่ชำระหนี้ ผู้ตายจึงรับชำระหนี้เป็นที่ดินแทนหนี้เงินกู้ ขณะนั้นบิดาของโจทก์ไม่สามารถมีชื่อในโฉนดที่ดินได้เพราะเป็นคนต่างด้าวแต่จำเลยบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงให้ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินแทน โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้คำเบิกความของโจทก์กับของนางประภาพรรณมีน้ำหนักยิ่งขึ้น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้อนุบาลของจำเลยกลับระบุว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12309, 12310 และ 12609 เป็นทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งขัดแย้งกับทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าว ทั้งที่โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความและเป็นผู้เรียงคำร้องขอดังกล่าวเอง คำเบิกความของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่นางประภาพรรณเบิกความว่า พยานกับจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 14943 ไว้แทนผู้ตายนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 จำเลยและนางประภาพรรณมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 14943 และ 17031 แต่นางประภาพรรณกลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภายหลังจากแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 17031 แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลือที่มีชื่อนางประภาพรรณเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ทรัพย์มรดก แต่เป็นทรัพย์ส่วนตัวของนางประภาพรรณ โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดการจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 17031 จึงมิใช่การถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตาย ทั้งที่ที่ดินทั้งสองแปลงจดทะเบียนรับโอนมาในวันเดียวกัน ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ ทำให้คำเบิกความของนางประภาพรรณไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้งสี่แปลงในคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นคงมีคำสั่งแต่เพียงในเรื่องตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น มิได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์มรดกแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนผู้ตาย ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ