แหล่งที่มา : แผนกคดีเลือกตั้ง
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 30 มีนาคม 2557 ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ ต่อมา ส. ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 496/2555 ว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้ร้องเห็นว่าควรสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน ขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดห้าปี ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านยังมิได้เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค3คดียังไม่ถึงที่สุด ขอให้ยกคำร้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) มาตรา 102 (3) และมาตรา 115 (8) กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 119 มาตรา 139 และมาตรา 122 ยังมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่าเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2557 ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 แล้ว แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งในข้อ 1 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ ต่อเนื่องต่อไป โดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกับทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงไปไม่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อเนื่องตลอดมา เมื่อมาตรา 119 ได้บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจในการจัดให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุก ผู้คัดค้านมีกำหนด 5 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้คัดค้าน 10 ปี โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะถือว่าผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา… (8) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 102 …(3)…” โดยมาตรา 102 (3) บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร… (3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)…” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง…(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง…” แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะต้องถูกจำกัดสิทธิต้องห้ามมิให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา การบังคับตามคำพิพากษาของศาลที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเช่นนี้ จะบังคับได้โดยเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีของผู้คัดค้าน แม้จะได้ความว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งพิพากษาว่าผู้คัดค้านมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจบังคับคดีได้โดยเด็ดขาด จึงไม่ถือว่าผู้คัดค้านอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้คัดค้านมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาดังที่ผู้ร้องอ้าง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 30 มีนาคม 2557 ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ หมายเลข 1 ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2557 นายสมภพ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดศรีสะเกษว่า การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 496/2555 ว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ครั้นวันที่ 29 เมษายน 2557 ผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ร้องเห็นว่าควรสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน ขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดห้าปี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านยังมิได้เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดียังไม่ถึงที่สุด ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยสุจริต มิได้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) มาตรา 102 (3) และมาตรา 115 (8) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 119 ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นคำร้องดำเนินคดีนี้ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) มาตรา 102 (3) และมาตรา 115 (8)ได้ถูกยกเลิกและสิ้นสุดลงแล้ว ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้รวมวินิจฉัยเมื่อมีคำสั่ง
ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสอบข้อเท็จจริงจากผู้ร้องและ ผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานอีก
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปในวันที่ 30 มีนาคม 2557 หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว วันที่ 2 มีนาคม 2557 ประธานกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดศรีสะเกษ หมายเลข 1 และผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดศรีสะเกษได้รับคำร้องคัดค้านจากนายสมภพ มั่นคงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดศรีสะเกษ หมายเลข 5 ว่า การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 496/2555 ว่า ผู้คัดค้านมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก5 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 9 ตุลาคม 2557 ผู้ร้องมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้คัดค้าน
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) มาตรา 102 (3) และมาตรา 115 (8) กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 119 มาตรา 139 และมาตรา 122 ยังมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่าเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2557 ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 แล้ว แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งในข้อ 1 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป โดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก กับทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงไปไม่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อเนื่องตลอดมา เมื่อมาตรา 119 ได้บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจในการจัดให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านมีกำหนด 5 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้คัดค้าน 10 ปี โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะถือว่าผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 115 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา… (8) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 102 …(3)…” โดยมาตรา 102 (3) บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร… (3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)…” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (2) บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง … (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง…” แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะต้องถูกจำกัดสิทธิ ต้องห้ามมิให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา การบังคับตามคำพิพากษาของศาลที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเช่นนี้ จะบังคับได้โดยเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีของผู้คัดค้าน แม้จะได้ความว่า เมื่อวันที่ 26เมษายน 2555 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ซึ่งพิพากษาว่าผู้คัดค้านมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด ไม่อาจบังคับคดีได้โดยเด็ดขาด จึงไม่ถือว่าผู้คัดค้านอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้คัดค้านมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาดังที่ผู้ร้องอ้าง
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง.