คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8543/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จำเลยที่ 1 ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยประกาศประกวดราคาให้ผู้สนใจเสนอขายที่ดินเพื่อใช้ก่อสร้างที่ทำการเขตโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าตกลงค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ตั้งไว้ หากขายได้เกินราคา ดังกล่าวเงินที่ขายเกินยอมยกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นซองประกวดราคาเสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงเดียวกันแก่องค์การโทรศัพท์ โดยโจทก์เสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ คณะกรรมการ รับและเปิดซองประกวดราคาเรียกจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้ตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนเสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของ จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แล้วมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 และหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 8 ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ 2 และได้ชำระค่าที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กันเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 7 เนื่องจากโจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนังสือ สัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามข้อตกลง ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยาย ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามเอกสารหมาย จ. 8 จากจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๗๑๙,๒๙๖ บาท และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๕๒๗,๔๘๔ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๖๗๕,๐๐๐ บาท และ ๔๙๕,๐๐๐ บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ ๖๗๕,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ ชำระเงินแก่โจทก์ ๓๐๙,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๙) ให้คิดได้ไม่เกิน ๔๔,๒๙๖ บาท และ ๓๒,๔๘๔ บาท ตามลำดับ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ ชนะคดีจำเลยแต่ละคน โดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินแก่โจทก์ ๒๐๑,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียม ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำให้การจำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีโดยยกเหตุว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ ๑ เมื่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามที่โจทก์เสนอราคา แต่เมื่อปรากฏว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตกลงซื้อที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตกลงซื้อตาม คำเสนอขายของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์ตามที่จำเลยที่ ๑ อ้างในฎีกาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในหนังสือสัญญานายหน้าต่อจำเลยที่ ๑ ที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาหรือไม่ ดังนี้ ข้อที่จำเลยที่ ๑ ยกขึ้นอ้างในฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ ๑ จะยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค ๘ วินิจฉัยปัญหานี้ให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาสรุปได้เป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ใช่นายหน้าผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจนสำเร็จ อันเป็นทำนองอ้างว่าการที่จำเลยที่ ๑ กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขาย ที่ดินกันไม่ใช่เนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่านายหน้าแก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ. ๗ นั้น เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาได้เปิดซองประกวดราคาปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ ๒ เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ แปลงเดียวกัน คณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาได้ให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันเองว่าจะให้ใครเป็นตัวแทน เสนอขายเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันแล้วให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ เพียงผู้เดียว จึงมีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๗ และยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ในการที่โจทก์ตกลงกับจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองขอให้โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ เพียงผู้เดียวนั้น จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ร้อยละ ๓ ของราคาที่ดินไร่ละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงมีการทำหนังสือสัญญานายหน้ากันไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๗ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็เบิกความยอมรับในเรื่องนี้ ดังนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ ๑ ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าแก่โจทก์ร้อยละ ๓ ของราคาที่ดินไร่ละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ. ๗ เนื่องแต่ผลที่โจทก์ยอมตกลงให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละกรณีไม่เกี่ยวกับหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ได้ทำกันไว้ในตอนแรกตามเอกสารหมาย จ. ๑ เมื่อจำเลยที่ ๑ ตกลงให้ค่าตอบแทนหรือที่เรียกค่านายหน้า แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๗ ด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าตามข้อตกลงดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการที่จำเลยที่ ๑ กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า เมื่อคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ ๒ เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ แปลงเดียวกัน ได้ให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าของที่ดินกับโจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันเองว่าจะให้ใครเป็นผู้เสนอขายที่ดินเพียงผู้เดียว โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันแล้ว ให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอขายที่ดินของจำเลยที่ ๑ เพียงผู้เดียว จึงได้มีการทำหนังสือสัญญานายหน้าระหว่างจำเลยที่ ๒ กับโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ. ๘ ส่วนซองประกวดราคาของโจทก์ที่เสนอไปคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาแจ้งว่าไม่เป็นไร ไม่มีผลเสียหายแต่อย่างใด และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ ๒ ถามค้านว่า โจทก์ขอถอนซองประกวดราคาด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาแล้วในวันนั้น เจ้าหน้าที่บอกว่าเสนอไปแล้วไม่เป็นไร ไม่มีผลเสียหายแต่อย่างใด และโจทก์ยังมีนางเสาวณีย์ รัตนพันธ์ ซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและเป็นกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคาเบิกความยืนยันว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๒ กลับเข้ามาในห้อง โจทก์ แจ้งแก่คณะกรรมการและพยานว่าให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เสนอซองประกวดราคาเพียงผู้เดียว คณะกรรมการไม่ได้คืนซองประกวดราคาของโจทก์เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของการประกวดราคาที่กำหนดว่าไม่คืนเอกสารและซองประกวดราคาทุกฉบับที่เสนอไป และคณะกรรมการได้แจ้งแก่โจทก์ด้วยว่าซองประกวดราคาของโจทก์ตกไป มีการรายงานผล การเปิดซองประกวดราคาทุกรายต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ. ๑๗ นางเสาวณีย์พยานโจทก์ ดังกล่าวไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ทั้งตามรายงานผลการเปิดซองประกวดราคาเอกสารหมาย จ. ๑๗ ดังกล่าวก็มีการระบุถึงซองประกวดราคาของโจทก์ที่ไม่รับพิจารณาเพราะเอกสารค้ำประกันของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกำหนด นอกจากนี้จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ปรากฏว่าหลังจากเปิดซองประกวดราคาจนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามคำเสนอขายของจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องให้การดำเนินการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเกิดขัดข้องหรือติดขัดแต่อย่างใด แม้จะไม่มีหลักฐานการถอนซองประกวดราคาของโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามที่จำเลยที่ ๒ อ้างในฎีกา แต่จากคำเบิกความของโจทก์และนางเสาวณีย์พยานโจทก์ประกอบพฤติการณ์ดังวินิจฉัยมา รูปคดีมีน้ำหนักและเหตุผลให้น่าเชื่อได้ว่า โจทก์ได้ถอนซองประกวดราคาของโจทก์โดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงให้โจทก์ถอนซองประกวดราคาของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าค่านายหน้าตามหนังสือสัญญานายหน้าเอกสารหมาย จ. ๘ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๑๘๐,๗๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share