แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดียังคงเหลือประเด็นต้องวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ระบุพยานเพิ่มเติมซึ่งเป็นพยานสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้นำพยานหลักฐานเฉพาะต่อจำเลยที่ 2 มานำสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นพยานหลักฐานคนละส่วนกัน
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังบัญญัติไว้ในมาตรานี้เกิดขึ้นให้เชื่อไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หาใช่บทบัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนฟ้องเสมอไปไม่ แม้เจ้าหนี้มิได้ทวงถามหรือการทวงถามไม่ชอบตามมาตรา 8 (9) ดังกล่าว แต่เจ้าหนี้ นำสืบได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่ฟ้อง เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลาย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องตามคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องของจำเลยไปให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 โดยอ้างว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อปรากฏว่ากรณีตามคำร้องมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าวมาตราใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งปัญหาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาถึงชั้นฎีกา ซึ่งจำเลยก็มิได้ ยื่นคำคัดค้านหรือฎีกาในปัญหาดังกล่าวมาด้วย กรณีจึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ ทั้งไม่มีเหตุที่จะส่ง คำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๑ เด็ดขาด ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นสมควร
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดียังคงเหลือประเด็นต้องวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ระบุพยานเพิ่มเติมนั้นเป็นพยานสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๒ โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้นำพยานหลักฐานเฉพาะต่อจำเลยที่ ๒ มานำสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ เพราะเป็นพยานหลักฐานคนละส่วนกัน ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า โจทก์มิได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้โจทก์เสียก่อนตามมาตรา ๘ (๙) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ กรณีจึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ ๑ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า มาตรา ๘ (๙) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าถ้ามีเหตุ อย่างหนึ่งอย่างใดดังบัญญัติไว้ในมาตรานี้เกิดขึ้นให้เชื่อไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หาใช่บทบัญญัติให้โจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ก่อนฟ้องเสมอไปไม่ แม้โจทก์มิได้ทวงถามหรือการทวงถามไม่ชอบด้วยมาตรา ๘ (๙) ดังกล่าว เมื่อโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยที่๑ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ล้มละลาย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องของจำเลยที่ ๑ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๘ โดยอ้างว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น เห็นว่า กรณีตามคำร้องมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาตราใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ทั้งปัญหาดังกล่าวได้ ล่วงเลยมาถึงชั้นฎีกา ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็มิได้ยื่นคำคัดค้านหรือฎีกาในปัญหาดังกล่าวมาด้วย กรณีจึงไม่เป็นประเด็นที่ ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ ทั้งไม่มีเหตุที่จะส่งคำร้องของจำเลยที่ ๑ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
พิพากษายืน .