แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริงส่วนบิดามารดาจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญเมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่กรรมและผู้ตายก็ไม่มีผู้สืบสันดานพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทลำดับ3ตามป.พ.พ.มาตรา1629จึงเป็นผู้จัดการศพผู้ตายมีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพเพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่1ขับรถยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายได้ ฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นพี่ชายและพี่สาวของผู้ตายร่วมบิดามารดาเดียวกันโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยทั้งสองคือค่าปลงศพค่ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่1โดยระบุค่าเสียหายแต่ละรายการมาด้วยว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใดและขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวจึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้อบังคับทั้งข้ออ้างและข้อหาส่วนรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในคำฟ้องฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับนายเชาวลิต แซ่โง้ว บิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อเลขทะเบียน 70-0098 ศก. นายบุญหรือเปี๊ยก หรือจะแก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความเร็วสูงมากล้ำเข้าไปในเส้นทางเดินรถของรถที่วิ่งสวนมา ชนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า เลขทะเบียน2609 ศก. ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งนายเชาวลิต แซ่โง้ว เป็นผู้ขับและนางลาวัลย์ เจริญพิทยา นั่งซ้อนท้ายสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยานยนต์หักพังใช้ประโยชน์ไม่ได้ นายเชาวลิตและนางลาวัลย์ถึงแก่ความตายโจทก์ต้องเสียค่าปลงศพเป็นเงิน 70,000 บาท ค่ารถจักรยานยนต์30,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายสำหรับค่าปลงศพและค่ารถจักรยานยนต์รวมทั้งค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 20 ปีรวมเป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายเชาวลิต แซ่โง้ว ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องขอโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปลงศพและค่าซ่อมแซมรถจักรยานยนต์รวมเป็นเงิน 78,113 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 ใช้เป็นเงิน 68,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพหรือไม่นั้น…ไม่ปรากฏว่านายเชาวลิตมีภรรยาและบุตร จำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่านายเชาวลิตไม่ใช่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ส่วนบิดามารดาของโจทก์ทั้งสองและนายเชาวลิตจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์ทั้งสองและนายเชาวลิตเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่า การเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องให้บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันด้วยจึงต้องถือความเป็นพี่น้องกันตามความเป็นจริง ฉะนั้น เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมและนายเชาวลิตไม่มีผู้สืบสันดาน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทลำดับ 3ของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 จึงเป็นผู้จัดการศพของนายเชาวลิต และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันได้แก่ค่าปลงศพ เพราะเหตุที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1ขับรถชนนายเชาวลิตถึงแก่ความตายได้…
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม…ก็ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่ชายและพี่สาวนายเชาวลิต แซ่โง้ว ร่วมบิดามารดาเดียวกัน และโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยทั้งสองคือค่าปลงศพ ค่ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยระบุค่าเสียหายแต่ละรายการมาด้วยว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด ขอให้จำเลยร่วมรับใช้ค่าเสียหายดังกล่าว เป็นการบรรยายว่าโจทก์ฟ้องในฐานะทายาทซึ่งเป็นผู้ปลงศพนายเชาวลิตผู้ตาย และในฐานะที่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่ได้รับความเสียหายจากผลแห่งละเมิดว่า ต้องเสียหายอย่างไรบ้างฟ้องโจทก์จึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างแห่งข้อหา ไม่จำต้องบรรยายในรายละเอียดและแสดงหลักฐานและแสดงหลักฐานมาในฟ้องว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องนำสืบในชั้นพิจารณาอยู่แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม…”
พิพากษายืน.