คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8241/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) หมายถึง ลูกจ้างได้กระทำโดยรู้สำนึกถึงการกระทำว่าจะเกิดผลเสียหายต่อนายจ้าง
โจทก์อนุญาตให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนไม่ตรงกับใบสั่งจ่ายน้ำมันเข้าไปเติมน้ำมันในบริษัทจำเลยและออกใบผ่านยามไม่ตรงกับความจริง แต่การกระทำเช่นนี้โจทก์และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยได้ปฏิบัติกันมาเป็นปกติเพราะไม่มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน จำเลยทำการสอบสวนแล้วก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทุจริตหรือมีผลประโยชน์ เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว และรถที่เข้าไปเติมน้ำมันจำเลยก็เรียกเก็บเงินในภายหลังได้ตามปกติ จึงมิใช่เป็นการที่โจทก์กระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างอันจะถือว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้จงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ที่ว่า “ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงอันอาจเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ทำหลักฐานหรือรายงานหรือให้ข้อความเป็นเท็จแก่บริษัทฯ” ซึ่งถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในตัว จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๖,๗๙๕ บาท และค่าชดเชย จำนวน ๔๗,๔๑๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๖,๗๙๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และค่าชดเชยจำนวน ๔๗,๔๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหายและจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่า การที่ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) นั้น หมายถึง ลูกจ้างได้กระทำโดยรู้สำนึกถึงการกระทำว่าจะเกิดผลเสียหายต่อนายจ้าง คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟัง ข้อเท็จจริงว่า โจทก์อนุญาตให้รถยนต์ที่มีเลขทะเบียนไม่ตรงกับใบสั่งจ่ายน้ำมันเข้าไปเติมน้ำมันในบริษัทจำเลยและออกใบผ่านยามไม่ตรงกับความจริง ซึ่งการกระทำเช่นนี้โจทก์และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยได้ปฏิบัติกันมาเป็นปกติเพราะไม่มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องนี้ จำเลยทำการสอบสวนแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์ทุจริตหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว และรถที่เข้าไปเติมน้ำมันนั้นจำเลยเรียกเก็บเงินในภายหลังได้ตามปกติ ดังนั้น จึงมิใช่เป็นการที่โจทก์กระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างอันจะถือว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้จงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๒) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๒ ข้อ ๔๕ (๒๑) ที่ว่า “ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงอันอาจเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย ทำหลักฐานหรือรายงานหรือใช้ข้อความเป็นเท็จแก่บริษัทฯ” ซึ่งถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในตัว จำเลยซึ่งเป็น นายจ้างมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคท้าย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกา ไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง .

Share