คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1916/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจทำในต่างประเทศ ความสมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำหนังสือมอบอำนาจนั้น ไม่อยู่บังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
การบังคับให้มีสำเนาเอกสารหรือคำแปลเอกสารที่รับรองถูกต้องตามมาตรา 31(2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เอกสารดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการจะเป็นสำเนาซึ่งรับรองโดย จ. ซึ่งไม่มีส่วนรับรู้ในการทำสัญญาดังกล่าวและคำแปลเป็นภาษาไทยคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้แปลและผู้แปลสาบานตนแล้วหรือไม่ อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่าสำเนาสัญญาอนุญาโตตุลาการและคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จึงไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของเอกสารดังกล่าว ความไม่ชอบของเอกสารตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างจึงไม่ใช่ข้อสำคัญแห่งคดี
ผู้คัดค้านต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์กับข้อตกลงเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน เพราะการทำสัญญาดังกล่าวผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก่อน แต่ไม่ให้ความเห็นชอบคำคัดค้านดังกล่าวเป็นการยอมรับอยู่ในตัวถึงการมีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ผูกพันผู้คัดค้านเนื่องจากผู้ลงนามในสัญญาไม่มีอำนาจทำการผูกพันผู้คัดค้าน จึงเป็นการอุทธรณ์ที่ต่างจากคำคัดค้าน ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้นเป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดที่เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกได้สูงกว่าอัตรานี้โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายมิใช่เป็นกรณีกฎหมายห้ามเด็ดขาดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หากมีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าหนี้สามารถเรียกได้สูงกว่าอัตรานี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกได้โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมายการชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่กำหนดให้ผู้คัดค้านใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนซึ่งเท่ากับร้อยละ 18 ต่อปี จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศคือ เงินโครนนอร์เวย์ เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 วรรคสอง ที่กำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ และในเวลาที่ใช้เงิน อีกทั้งยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอเพราะโจทก์มิได้มีคำขอดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของราชอาณาจักรนอร์เวย์ มีนายไก โบเจน เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปกระทำการแทน ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายธเนศเปเรร่า และ/หรือนายอภิชาติ แจ้งยุบล เป็นผู้ดำเนินการแทน ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์ตกลงกันให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวโดยการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ณ กรุงโคโปนเฮเกนเป็นผู้ชี้ขาด ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยได้จัดซื้อสินค้าและอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าวเพื่อทำการส่งมอบให้แก่ผู้คัดค้าน ทั้งได้จัดเตรียมเครื่องมือและบุคลากรที่จะดำเนินการติดตั้งสินค้าและอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าวในระบบทางด่วนยกระดับกรุงเทพมหานคร 1 และ 2 ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อถึงกำหนดชำระราคา ผู้คัดค้นกลับผิดนัดไม่ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทสู่อนุญาโตตุลาการ ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์กเพื่อให้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำเสนอข้อพิพาทแก่ผู้คัดค้านโดยชอบ ผู้คัดค้านได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีและแต่งตั้งศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วิกโก แฮกสตรอม เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน คณะอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการเดนมาร์กมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระเงินจำนวน 9,131,736 โครนนอร์เวย์ จากผู้คัดค้าน ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยดังต่อไปนี้จากผู้คัดค้าน อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน 117,000 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน 1,170,000โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน 115,310 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 12เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน115,310 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นและอัตราที่กำหนดโดยธนาคารแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก (ร้อยละ 3.5 ต่อปี)บวกร้อยละ 6 ต่อปี ในต้นเงิน 7,729,426 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 24ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 50,000 โครนนอร์เวย์ และผู้ร้องกับผู้คัดค้านต้องชำระค่าใช้จ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก ผู้คัดค้านได้รับทราบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและผู้ร้องได้ทวงถามให้ผู้คัดค้านชำระหนี้แล้ว แต่ผู้คัดค้านมิได้ชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ราชอาณาจักรเดนมาร์กเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958)ขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังต่อไปนี้แก่ผู้ร้องคือ ต้นเงิน9,131,736 โครนนอร์เวย์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้องขอไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ดอกเบี้ยในอัตราต้นเงินและระยะเวลาดังต่อไปนี้ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน117,000 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 32,461.89 โครนนอร์เวย์อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ในต้นเงิน 1,170,000 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 325,836.99 โครนนอร์เวย์ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในต้นเงิน115,310 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จเมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 29,922.16 โครนนอร์เวย์ อัตราร้อยละ9.5 ต่อปีในต้นเงิน 7,729,426 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2539ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 1,609,422.22โครนนอร์เวย์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ 250,000โครนนอร์เวย์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงิน20,952.05 โครนนอร์เวย์

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สัญญาซื้อขายเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์ รวมทั้งข้อตกลงอนุญาโตตุลาการไม่มีผลใช้บังคับ ผู้คัดค้านได้บอกเลิกสัญญาพิพาทแล้ว คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกำหนดค่าเสียหายและดอกเบี้ยในคำชี้ขาดไม่ชอบคำชี้ขาดมิได้กระทำโดยอนุญาโตตุลาการเดนมาร์ก การบังคับตามคำชี้ขาดเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คำชี้ขาดในส่วนของค่าเสียหายและดอกเบี้ยเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ ขอให้ยกคำร้องขอ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการเดนมาร์ก โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังต่อไปนี้แก่ผู้ร้องคือ ต้นเงิน9,131,736 โครนนอร์เวย์ ดอกเบี้ยในอัตราของต้นเงินและในกำหนดระยะเวลาดังต่อไปนี้ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของต้นเงิน 117,000 โครนนอร์เวย์นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นเมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอ (ยื่นคำร้องขอวันที่ 8 มกราคม 2542) เป็นเงินไม่เกิน 32,461.89โครนนอร์เวย์ อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของต้นเงิน 1,170,000 โครนนอร์เวย์นับแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอ เป็นเงินไม่เกิน 325,836.99 โครนนอร์เวย์ อัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือน ของต้นเงิน 115,310 โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 12 เมษายน2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอ เป็นเงินไม่เกิน29,922.16 โครนนอร์เวย์ อัตราร้อยละ 9.25 ต่อปีของต้นเงิน 7,729,426โครนนอร์เวย์ นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2539 ไปจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2540และในอัตราร้อยละ 9.50 ต่อปี ของต้นเงินเดียวกัน นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อคิดถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงินไม่เกิน1,609,422.22 โครนนอร์เวย์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นอนุญาโตตุลาการ 250,000 โครนนอร์เวย์ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษานี้ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก่อนวันที่มีคำพิพากษา

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของราชอาณาจักรนอร์เวย์ ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) นายไก โบเจน กรรมการและผู้จัดการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทน บริษัทผู้ร้องได้มอบอำนาจให้นายธเนศ เปเรร่า และ/หรือนายอภิชาติ แจ้งยุบล เป็นผู้ดำเนินการแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.9 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 นายประเสริฐ อัศวสุวรรณ ซึ่งอ้างว่าเป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการในนามบริษัทผู้คัดค้านได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์กับผู้ร้องตามสำเนาเอกสารหมายจ.1 ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2539 ผู้ร้องนำข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวเสนออนุญาโตตุลาการ ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์กเพื่อให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 คณะอนุญาโตตุลาการแห่งสถาบันอนุญาโตตุลาการเดนมาร์กมีคำชี้ขาดตามเอกสารหมาย จ.13 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อ 3 ก. ว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมายจ.9 มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงไม่อาจรับเข้าเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่านายธเนศ เปเรร่า และหรือนายอภิชาติแจ้งยุบล เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แทนผู้ร้อง เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านเป็นการอุทธรณ์เรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ต่อสู้ไว้ ผู้คัดค้านก็สามารถอุทธรณ์ได้ สำหรับความสมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.9 ซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่าไม่อาจรับฟังได้เนื่องจากมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9 ได้กระทำในราชอาณาจักรนอร์เวย์ ซึ่งมีโนตารีพับลิกแห่งเมืองทรอนไฮม์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์รับรองว่า นายไก โบเจน กรรมการผู้จัดการทั่วไปซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทผู้ร้องเป็นผู้ลงนามรวม ทั้งมีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์รับรองว่าโนตารีพับลิกที่รับรองดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจจริง จึงไม่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9 จะมิใช่เป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริง ส่วนเรื่องการปิดอากรแสตมป์นั้นเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9ได้ทำในต่างประเทศความสมบูรณ์ของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำหนังสือมอบอำนาจนั้น ไม่อยู่บังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ในเมื่อไม่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9 มีความไม่สมบูรณ์อย่างใดตามกฎหมายของประเทศนอร์เวย์ จึงต้องรับฟังว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวสมบูรณ์และรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้อุทธรณ์ในข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 3 ข. อีกว่า ผู้ร้องไม่มีเอกสารตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 31 โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการเอกสารหมาย จ.1 และ จ.10 ผู้ร้องมีเพียงสำเนาที่รับรองโดยนายจารุศักดิ์โพธิไหม ซึ่งมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการทำสัญญา และคำแปลเป็นภาษาไทยของคำชี้ขาดตามเอกสารหมาย จ.13 ไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้แปลและผู้แปลสาบานตัวแล้ว อีกทั้งมิได้มีเจ้าหน้าที่รับรอง ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ความมุ่งหมายของการบังคับให้มีสำเนาเอกสารหรือคำแปลเอกสารที่รับรองถูกต้องตามมาตรา 31(2)และ (3) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ก็คือเพื่อให้เอกสารดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ สำหรับคดีนี้ แม้ว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.10 จะเป็นสำเนาซึ่งรับรองโดยนายจารุศักดิ์ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีส่วนรับรู้ในการทำสัญญาดังกล่าว และคำแปลเป็นภาษาไทยคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย จ.13 ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้แปลและผู้แปลสาบานตนแล้วหรือไม่ อีกทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่าสำเนาสัญญาอนุญาโตตุลาการและคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จึงไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของเอกสารดังกล่าวความไม่ชอบของเอกสารตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างจึงไม่ใช่ข้อสำคัญแห่งคดีอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 4.1 และข้อ 5.1 ว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ผูกพันผู้คัดค้าน เนื่องจากนายประเสริฐ อัศวสุวรรณ ซึ่งลงนามในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.10 ไม่มีอำนาจทำการผูกพันบริษัทผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีฐานะเป็นบุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า ในคำคัดค้าน ผู้คัดค้านต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์กับข้อตกลงเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้านเพราะการทำสัญญาดังกล่าวผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันว่าการซื้อขายและการนำเครื่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษแบบอัตโนมัติและอุปกรณ์มาติดตั้งบริเวณทางด่วนขั้นที่ 1 ซึ่งผู้คัดค้านได้รับสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก่อน แต่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ให้ความเห็นชอบและผู้ร้องแสดงข้อความอันเป็นเท็จในการทำสัญญาคำคัดค้านของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการยอมรับอยู่ในตัวถึงการมีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย จ.1 และจ.10 อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้าน จึงเป็นการอุทธรณ์ที่ต่างจากคำคัดค้านถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 4.2 ว่า องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่กรณีตกลงไว้ โดยตามเอกสารหมาย จ.10 อนุญาโตตุลาการคนหนึ่ง คู่กรณีตกลงให้สถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งเดนมาร์กแต่งตั้งทนายความสัญชาติเดนมาร์กซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนหรือเช่นเดียวกับผู้พิพากษาศาลสูงเป็นประธานอนุญาโตตุลาการ แต่ตามคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ.13 ระบุว่า ประธานของคณะอนุญาโตตุลาการคือ นายเพอ โซเลนเซน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงของราชอาณาจักรเดนมาร์กจึงชอบที่ศาลจะยกคำร้องตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34(5) ในข้อนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า ในคำคัดค้านของผู้คัดค้านผู้คัดค้านมิได้ต่อสู้ข้อนี้ไว้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 5.1 และข้อ 5.2 ว่า คำชี้ขาดในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยที่กำหนดให้ผู้คัดค้านใช้คืออัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ที่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้นเป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดที่เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกได้สูงกว่าอัตรานี้โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีกฎหมายห้ามเด็ดขาดไม่ให้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หากมีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าหนี้สามารถเรียกได้สูงกว่าอัตรานี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกได้โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย การชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่กำหนดให้ผู้คัดค้านใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนซึ่งเท่ากับร้อยละ 18 ต่อปีนั้น ผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างว่าเป็นการขัดต่อบทกฎหมายอื่นใดอีก จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ คำพิพากษาฎีกาที่ผู้คัดค้านอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ในข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศคือ เงินโครนนอร์เวย์ เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 196 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อีกทั้งยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยไม่บังคับให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก่อนวันที่มีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share