คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6840/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควร ที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ เหตุดังกล่าวอาจเกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิด ของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และโจทก์ทำงานบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชา เตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นทำให้จำเลยเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์และจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงิน ที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 7,200 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 3,600 บาท ค่าชดเชย 43,200 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ของต้นเงินทุกจำนวน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างและให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 43,200 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2542 (วันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 43,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2542 (วันเลิกจ้าง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จะนำเหตุเลิกจ้างอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมาเป็นข้อสนับสนุนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิดของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119
แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานตรวจสอบคุณภาพบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้น มีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้งทำให้จำเลยเสียหาย ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจงใจไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายให้โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง ยังมีข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share