แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่ทำงานออกแบบเสื้อผ้าให้จำเลยการที่โจทก์รับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างทำงานโดยใช้ภู่กันสีและกระดาษของจำเลยเป็นการเบียดบังทั้งเวลาและทรัพย์สินของจำเลยโดยมิชอบต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2536 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน45,786 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน20,858 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ รับงานนอกมาทำในระหว่างการทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของจำเลย และได้รับการตักเตือนด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2536 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,262 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 เนื่องจากโจทก์รับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและจำเลยในฐานะนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว หรือการฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันแต่การที่โจทก์รับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 45,786 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งเคยถูกจำเลยตักเตือนแล้ว เป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 5(2) และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิเคราะห์แล้วมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้จะมิได้ระบุว่าฝ่าฝืนในข้อใด แต่จำเลยก็ได้บรรยายการกระทำของโจทก์ชัดเจนอยู่ในตัวพอที่จะปรับกับระเบียบข้อบังคับของจำเลยได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์รับงานนอกเข้ามาทำงานในระหว่างทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของจำเลยเห็นว่า โจทก์ทำงานออกแบบเสื้อให้จำเลย โดยหน้าที่โจทก์ย่อมต้องปฏิบัติงานให้จำเลยในระหว่างทำงานให้ลุล่วงไปตามสมควรเพื่อหวังให้เกิดผลคุ้มค่ากับค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการที่โจทก์รับงานนอกเข้ามาทำในระหว่างการทำงานโดยใช้อุปกรณ์ของจำเลยอันได้แก่ ภู่กัน สีและกระดาษเป็นการเบียดบังทั้งเวลาและทรัพย์สินของจำเลยโดยมิชอบต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองจำเลยย่อมได้รับความเสียหายการกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 5(2) ก. เอกสารหมาย ล.3จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง