แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บริษัทจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เนื่องจากบริษัทจำเลยไม่มีเงินจ่ายนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างค้างจ่ายตามจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย ชำระค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 2,160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานและหนังสือสำคัญการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงรานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายเดือนธันวาคม 2542 จำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 12,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันที่ 8 มกราคม 2543 ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน จ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชย นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2543 ทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ทั้งนี้จนกว่าจำเลยจะชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยเสร็จ กับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ในค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัทจำเลยมีโจทก์เป็นลูกจ้างเพียงคนเดียว มีโครงการสวนพฤกษชาติที่จังหวัดภูเก็ต แต่ต้องระงับโครงการ จึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ผลประโยชน์จากการเลิกจ้าง ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าทนายความตามหนังสือเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายและผลประโยชน์จากการเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 และรายการเรียกร้องเงินต่างๆ ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยจึงไม่จ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง เห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์เองว่า รายได้ของบริษัทจำเลยเท่ากับศูนย์ ซึ่งหมายความว่าบริษัทจำเลยไม่มีรายได้จึงมิได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) โจทก์ได้รับเงินเดือนเป็นเช็คจากบริษัทมิวเร็กซ์ จำกัด เพราะบริษัทจำเลยไม่มีเงินจ่ายให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่บริษัทจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้แก่โจทก์เนื่องจากบริษัทจำเลยไม่มีเงินจ่ายนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะเวลาเจ็ดวันในเงินค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.