แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช่าตึกทำการค้าในทำเลการค้า แม้จะอยู่อาศัยด้วยก็ไม่เป็นเคหะอันจะได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันฯ
ผู้ให้เช่าเรียกค่าเช่าสูงขึ้น ผู้เช่าไม่ยอมให้ผู้ให้เช่าจึงมาฟ้องเลิกสัญญาเช่า ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องกล่าวว่า โจทก์เป็นบุตรนางนวล แซ่ตั้ง ๆ มีห้องแถวชั้นเดียว 1 ห้อง พร้อมด้วยที่ดินปลูกสร้างอยู่ตลาดเมืองอุบลในเขตเทศบาล เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2488 นางสาวบัวผันจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าห้องและที่ดินรายนี้จากนางนวล แซ่ตั้งมีกำหนด 5 ปีค่าเช่าเดือนละ 30 บาท ต่อมา พ.ศ. 2491 นางนวลถึงแก่กรรมห้องแถวและที่รายนี้ตกมาเป็นของนายกิมสุ่นโจทก์ที่ 2 และนายกิมเส็งน้องชายร่วมกันตามพินัยกรรมของนางนวล นางสาวกิมเหียะโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก บัดนี้สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว และจำเลยได้กระทำผิดสัญญาเช่าหลายข้อ จึงขอให้ศาลบังคับโดยอาศัยเหตุดังนี้
1. สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว
2. เช่าเพื่อการค้า เมื่อครบสัญญาแล้วต้องออก
3. จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง
4. จำเลยไม่เสียภาษีอากรแทนตามสัญญาที่ให้ไว้ในข้อ 5
5. จำเลยไม่ซ่อมแซมห้องเช่าที่ชำรุดตามสัญญาข้อ 7
โจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ให้เวลาอันสมควรแก่จำเลยแล้วจำเลยไม่ออกจากห้องเช่า จึงขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นบุตรและบิดาในครอบครัวเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2494 จำเลยที่ 2 และภรรยาได้เช่าห้องรายพิพาทและห้องของนางนีอีกห้องหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกันเพื่ออาศัยและทำการค้าต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกจำกัดเขตคนต่างด้าวต้องไปอยู่ต่างท้องที่ชั่วคราว จำเลยที่ 1 จัดการค้าแทน ต่อมา พ.ศ. 2488 จำเลยที่ 2 เช่าห้องรายนี้และห้องของนางนีต่อ มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปทำสัญญาเช่าที่อำเภอสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้วจริงแต่จำเลยสู้ว่า
1. จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน เพราะการเช่าก็เพื่ออยู่อาศัย และตามสัญญาเช่าข้อ 1ก็มีความหมายเช่นนั้น ถึงแม้จำเลยจะค้าขายด้วยก็ไม่สำคัญทั้งนางนวลผู้ให้เช่าก็รู้เห็นยินยอมด้วย
2. จำเลยที่ 2 และที่ 1 เป็นบิดาและบุตรในครอบครัวเดียวกันระหว่างจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ ใช้นามร้านว่า “ไทยบำรุง” แต่เมื่อจำเลยที่ 2 กลับเข้ามาโดยเลิกเขตคนต่างด้าวแล้ว ใช้นามร้านว่า”ตงอา” ถึงกระนั้นก็มิใช่เป็นการเช่าช่วง เพราะจำเลยเป็นครอบครัวเดียวกัน ทั้งนางนวลผู้ให้เช่าก็รู้เห็นยินยอมด้วย
3. เรื่องภาษีอากรและห้องชำรุด จำเลยก็มิได้ทำผิดสัญญา
เหตุที่โจทก์มาฟ้องก็เนื่องจากโจทก์เรียกเงินค่ากินเปล่าจากจำเลย 15,000 บาทและขึ้นค่าเช่าด้วย จำเลยไม่ให้โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ศาลยกฟ้องและมีคำสั่งว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่เช่าต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งดังฟ้องของตนและว่าจำเลยฟ้องแย้งไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยมีใจความว่า จำเลยมิได้ประพฤติผิดสัญญาแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอยู่ในที่เช่าของโจทก์แม้จะหมดอายุสัญญาเช่าแล้วก็ดี จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พิพากษายกฟ้อง
แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเช่าเพื่อทำการค้า การอยู่อาศัยของจำเลยก็เพื่อประกอบการค้า ฉะนั้นเมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้วจำเลยก็ไม่มีสิทธิจะอยู่ในที่เช่าได้อีกต่อไป และจำเลยหาได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันไม่พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงคู่ความแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่าเมื่อ พ.ศ. 2488 จำเลยได้ทำสัญญาต่อกรมการอำเภอเช่าที่ดินและตึกจากนางนวลมารดาโจทก์ก็กำหนด 5 ปีเพื่อทำการค้า ครบกำหนดสัญญาโจทก์ได้บอกเลิกการเช่า แต่จำเลยไม่ยอมออก แสดงความจำนงจะขอเช่าอยู่ต่อไปฝ่ายโจทก์ไม่ยอมจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ขึ้นปรากฏว่าที่ดินและตึกที่จำเลยเช่านี้อยู่ที่ตลาดริมถนนพรหมราชในเขตเทศบาล จำเลยใช้ทำการค้าด้านหน้ามียี่ห้อว่า “ตงอา” หลังบ้านใช้เป็นที่อยู่
ได้ความเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า ตึกรายนี้อยู่ในทำเลการค้าและจำเลยก็ทำการค้าด้วย แม้จำเลยจะได้อยู่ในร้านด้วยก็ดี จำเลยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1099-1147/2491 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าเพราะโจทก์เรียกร้องเอาเงินสูงขึ้นจำเลยไม่ให้โจทก์จึงมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น แม้จะเป็นจริงก็จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ได้ เพราะเป็นที่ของโจทก์จะให้เช่าหรือไม่ด้วยราคาเท่าใดย่อมทำได้
เหตุนี้จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนาย 25 บาท แก่โจทก์