คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขึ้นไปบนเกาะสัมปทานรังนกอีแอ่นของผู้อื่น แล้วใช้ไม้และเหล็กแทงรังนกอีแอ่นซึ่งติดอยู่กับผนังถ้ำให้หลุดออก และลักเอาไป หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองรังนกอีแอ่นที่ร่วมกันลักไป ซึ่งตามพ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2482 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุมาตรา 5, 7 และ 9 ห้ามกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ห้ามเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และห้ามมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นที่ได้มาโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายซึ่งเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยเข้าเก็บรังนกอีแอ่น และการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติตามที่กฎหมายห้ามไว้ไปพร้อมกันด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ.มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยครอบครองรังนกอีแอ่นที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังและแยกเป็นคนละส่วนจากการกระทำผิดครั้งแรกได้ จึงถือได้ว่า จำเลยกระทำผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำความผิดข้างต้น จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันตาม ป.อ.มาตรา 91

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่๒๒๖/๒๕๔๒ ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่๒ และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ ๓ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ ๓ยุติไปในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเพราะจำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกขึ้นไปบนเกาะสัมปทานรังนกอีแอ่นของผู้อื่น โดยร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นโดยใช้ไม้และเหล็กแทงรังนกซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำให้หลุดออก อันเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่น หรือเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละทิ้งไปจากเกาะและเป็นการทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วลักเอารังนกอีแอ่นดังกล่าวไป ภายหลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวก ได้มีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวก ร่วมกันลักไปขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และ ที่๒ ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และฐานครอบครองรังนกอีแอ่นที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒,๓๓,๘๓,๙๑,๒๑๐,๒๑๓,๓๓๔,๓๓๕,๓๓๖ทวิ พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา๔,๕,๖,๗,๙,๑๐,๑๒ พ.ฎ.ก.กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา๓ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ และที่๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่๒ มีความผิดตามพ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา๔,๕ วรรคแรก,๖,๗,๙,๑๐,๑๒ ป.อ. มาตรา๙๑ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเก็บรังนกอีแอ่น จำคุกคนละ ๑ ปี ฐานครอบครองรังนกอีแอ่น จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามป.อ.มาตรา๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ของกลางริบ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค๙ พิพากษายืน
จำเลยที่๑ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ มีว่า การกระทำของจำเลยที่๑เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ หรือเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า พฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ มีเจตนาแท้จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งรังนกอีแอ่นเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่นฉบับเดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ มาตรา๕, ๗ และ ๙ บัญญัติห้ามกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ห้ามเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และห้ามมีไว้ในครอบครองซึ่งรักนกอีแอ่นที่ได้มาโดยฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว จำเลยที่ ๑ เก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยที่ ๑ เข้าเก็บรังนกอีแอ่น และการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไปพร้อมกันด้วย การกระทำของจำเลยที่๑เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ส่วนที่จำเลยที่๑ครอบครองรังนกอีแอ่นที่ได้มาจากการกระทำผิดดังกล่าวแล้วข้างต้นต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังและแยกเป็นคนละส่วนจากการกระทำผิดครั้งแรกแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิดต่อกฎหมายอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำผิดข้างต้น และเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ มานั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

นายสุพจน์ แสงประชากุล ผู้ช่วยฯ
ร.ท.นิตินาถ บุญมา นิติกร ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายโชติช่วง ทัพวงศ์ ตรวจ

Share