คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรือ ว.ทองทะเล 4 ที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 เป็นผู้เช่าบ้านให้จำเลยที่ 1 พักรวมกับคนงานอื่น ๆ จัดรถยนต์รับส่งระหว่างบ้านพักกับสะพานที่เกิดเหตุที่ถูกเรือดังกล่าวชนเพื่อให้จำเลยที่ 1 กับคนงานอื่น ๆ ลงเรือดังกล่าวไปทำงานกู้ตัดเหล็กซากเรือใหญ่ที่อับปางซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 4 ทุกวัน และเป็นผู้เปิดบัญชีธนาคารให้จำเลยที่ 1 เบิกเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานดังกล่าว ทั้งภริยาจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้เป็นผู้ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรง และจัดการเรื่องอาหารทุกมื้อให้แก่คนงานทั้งหมดของจำเลยที่ 4 และได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอรับเรือของจำเลยที่ 4 คืนจากเจ้าพนักงานตำรวจหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังได้ใช้เรือของจำเลยที่ 4 ที่ตนควบคุมอยู่ทำการช่วยเหลือกู้เรือชาวประมงตามพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างควบคุมเรือ ว.ทองทะเล 4 กระทำกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4
ขณะเกิดเหตุเป็นฤดูมรสุม จำเลยที่ 1 มีอาชีพกู้เรือมานาน 20 ปี ย่อมรู้ดีว่าการจอดเรือ ว.ทองทะเล 4 ในบริเวณที่ไม่มีที่กำบังลมเพื่อกู้ตัดเหล็กซากเรือใหญ่ที่อัปปางอาจถูกลมพายุพัดหลุดลอยได้ง่าย การจัดการป้องกันด้วยการนำเรือไปหลบหาที่กำบังพายุก็สามารถกระทำได้ทันเพราะมีประกาศเตือนทางวิทยุให้รู้ว่าจะเกิดพายุล่วงหน้าติด ๆ กันทุกชั่วโมงตั้งแต่หัวค่ำของคืนก่อนวันเกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ 1 อาจป้องกันไม่ให้เรือถูกพายุได้แต่ไม่จัดการป้องกัน เป็นเหตุให้เรือ ว.ทองทะเล 4 ถูกพายุพัดหลุดลอยไปชนสะพานของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความคือวันที่ 23ตุลาคม 2522 เป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 161 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ควบคุมเรือ ว.ทองทะเล ๔ ทำการกู้และตัดเหล็กซากเรืออับปางในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หน้าที่ทำการโรงงานห้องเย็นของโจทก์โดยประมาท เป็นเหตุให้เรือถูกกระแสน้ำพัดไปชนสะพานท่าเทียบเรือของโจทก์หักพังเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑,๘๙๓,๒๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ขณะเกิดเหตุเรือ ว.ทองทะเล ๔ เสียจอดซ่อมอยู่ในที่กำบังลมปลอดภัยดีแล้ว แต่ถูกลมมรสุมพัดหลุดลอยไปชนสะพานของโจทก์โดยเหตุสุดวิสัย สะพานของโจทก์เก่าใช้การไม่ได้ โจทก์จึงไม่เสียหาย ฟ้องเคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๖๔๗,๕๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานห้องเย็นปากอ่าวแม่น้ำชุมพร จำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของเรือ ว.ทองทะเล ๔ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๑เรือ ว.ทองทะเล ๔ กับเรือ ว.ทองทะเล ๑ และเรือ ว.ทองทะเล ๓ ได้ไปกู้ตัดเหล็กซากเรือใหญ่ที่อับปางใกล้กับเกาะจระเข้ แล้วนำมาจอดทอดสมอตัดย่อยออกเป็นเศษเหล็กเพื่อขายที่ท้องทะเลระหว่างหน้าโรงงานห้องเย็นของโจทก์กับเกาะเสม็ด ห่างสะพานท่าเทียบเรือหน้าโรงงานห้องเย็นของโจทก์ประมาณ ๑ กิโลเมตร วันเกิดเหตุเรือ ว.ทองทะเล ๔ ถูกพายุพัดหลุดลอยเข้ามาชนสะพานของโจทก์เมื่อเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา สะพานของโจทก์หักพังลง๒ ช่วง ยาวประมาณ ๘๘ เมตร เกิดเหตุแล้วประมาณ ๑๐ วัน จำเลยที่ ๑ ได้ติดต่อขอรับเรือว.ทองทะเล ๔ จากร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ ไพรัตน์ หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรปากน้ำชุมพรไปไว้ที่เกาะเสม็ด
ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างควบคุมเรือ ว.ทองทะเล ๔กระทำกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยมที่ ๔ หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑เป็นชาวต่างประเทศ มีความชำนาญในการกู้เรือและตัดเหล็กใต้น้ำ ได้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยต่อเนื่องกันมานาน ๙ ปี และได้ทำงานกับจำเลยที่ ๔ ทำหน้าที่ควบคุมเรือว. ทองทะเล ๔ ของจำเลยที่ ๔ ขณะเกิดเหตุได้ไปทำงานดังกล่าวที่บริเวณปากอ่าวชุมพรหน้าที่ทำการห้องเย็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ ๔ เป็นผู้เช่าบ้านให้จำเลยที่ ๑ พักรวมกับคนงานอื่น ๆ จัดรถยนต์รับส่งระหว่างบ้านพักกับสะพานของโจทก์ที่เกิดเหตุเพื่อลงเรือ ว.ทองทะเล ๔ไปทำงานทุกวัน เปิดบัญชีกับธนาคารให้จำเลยที่ ๑ เบิกเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน มอบให้ภริยาจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงและจัดการเรื่องอาหารทั้ง ๓ มื้อ ของคนงานทั้งหมดของจำเลยที่ ๔ ในการติดต่อขอรับเรือทองทะเล ๔ คืนจากสถานีตำรวจภูธรปากน้ำชุมพรจำเลยที่ ๑ กับภริยาก็ไปติดต่อด้วยกัน หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ ๑ เคยใช้เรือของจำเลยที่ ๔ที่ตนควบคุมอยู่ไปช่วยกู้เรือให้ชาวประมง จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างควบคุมเรือว.ทองทะเล ๔ กระทำกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๔
ในประเด็นที่ว่า เหตุที่เรือ ว.ทองทะเล ๔ ชนสะพานของโจทก์เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริเวณที่จำเลยที่ ๑ นำเรือ ว.ทองทะเล ๔ ไปจอดทำงานไม่มีที่กำบังลมในฤดูมรสุมคลื่นลมจะแรงจัดทุกปี มีเรืออับปางเป็นประจำ ไม่มีเรือลำใดกล้าจอด ส่วนใหญ่ไปจอดหลบมรสุมที่ด้านหลังและท้ายเกาะเสม็ดหรือในแม่น้ำลำคลอง และวินิจฉัยว่าขณะเกิดเหตุเป็นฤดูมรสุม จำเลยที่ ๑ มีอาชีพกู้เรือมานานถึง ๒๐ ปี ย่อมรู้ดีว่าการจอดเรือในลักษณะไม่มีที่กำบังลมดังกล่าวอาจถูกลมพายุพัดหลุดลอยได้ง่าย การจัดการป้องกันด้วยการนำเรือไปหลบหาที่กำบังพายุก็สามารถกระทำได้ทัน เพราะมีประกาศเตือนทางวิทยุตั้งแต่หัวค่ำของคืนก่อนวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ ๑ อาจป้องกันไม่ให้เรือถูกพายุได้แต่ไม่จัดการป้องกัน การที่เรือ ว.ทองทะเล ๔ถูกพายุพัดหลุดลอยไปชนสะพานของโจทก์จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ จะอ้างว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะเป็นเหตุสุดวิสัยหาได้ไม่ ต้องรับผิดต่อโจทก์
ประเด็นสุดท้ายในเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ฎีกาว่า วันสุดท้ายแห่งอายุความคดีนี้ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๒ เป็นวันหยุด โจทก์จะต้องฟ้องภายในวันที่ ๒๒ตุลาคม ๒๕๒๒ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑ ใช้กับการนับระยะเวลาจะนำมาใช้กับการนับอายุความไม่ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๒ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่งเหมือนกัน เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑โจทก์จึงฟ้องในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๒ ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share