คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษี-อากรโดยแสดงเงินได้และหักค่าใช้จ่ายไว้ผิดประเภท เป็นเหตุให้จำนวนภาษีน้อยกว่าที่ควรต้องเสีย ถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมิน มีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้วประเมินภาษีอากรให้ถูกต้องตามมาตรา 1 และ 20แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยไม่จำเป็นต้องประเมินแล้วแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรตามมาตรา 18 วรรคแรกก่อนแต่อย่างใด
เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการทำงานในสถานพยาบาลของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีแม่เมาะและในสถานพยาบาลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่แม่เมาะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้จากคลินิกซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและดำเนินการรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนนั้น เป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นแพทย์ทำงานในสถานพยาบาลของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีแม่เมาะและในสถานพยาบาลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่แม่เมาะนอกจากนี้โจทก์ตั้งและดำเนินกิจการสถานพยาบาลเอกชนประเภทไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนด้วย โจทก์มีเงินได้จากเงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินได้จากการรักษาพยาบาลกับการจำหน่ายยาให้แก่ผู้ป่วยที่มาขอรับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของโจทก์ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ – ๒๕๒๕ โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตามกำหนดเวลาทุกปี ต่อมาโจทก์ได้รับหมายเรียกจากจำเลยที่ ๒ให้ไปพบเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ณ สำนักงานสรรพากรจังหวัดลำปาง เพื่อตรวจสอบไต่สวนเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมกับให้นำบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ไปทำการตรวจสอบ โจทก์ได้ไปให้ถ้อยคำและนำเอกสารไปให้ตรวจสอบ ต่อมาจำเลยที่ ๒ แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทำการประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามมาตรา ๒๐ และ ๒๒ แห่งประมวลรัษฎากรและให้โจทก์นำเงินภาษี เงินเพิ่มและเบี้ยปรับรวมทั้งสิ้น ๒๐,๐๖๑.๗๓ บาท ไปชำระให้แก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลำปาง โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินของจำเลยที่ ๒ ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นคณะกรรมการ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่อเจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ หรือเจ้าพนักงานประเมินที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๘ วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร การที่จะอ้างว่าโจทก์ยังเสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์แล้วใช้อำนาจตามมาตรา ๑ ออกหมายเรียกตัวโจทก์ไปทำการไต่สวนแล้วทำการประเมินตามมาตรา ๒๐ และ ๒๒ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะจำเลยยังมิได้ประเมินเงินภาษีอากรไปให้โจทก์ทราบเสียก่อน เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและข้ามขั้นตอน และโจทก์เห็นว่า เงินได้จากการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยาของโจทก์นั้น ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๖) แห่งประมวลรัษฏากรตามการประเมินของจำเลยที่ ๒ แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘)ตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ การที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๘แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายที่มีความประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองโจทก์ในอันที่จะไม่ต้องชำระภาษีอากรก่อนที่จะได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินจากเจ้าพนักงานประเมิน และไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ จงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องร่วมกันคืนเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บไปพร้อมดอกเบี้ยตามมาตรา ๔ ทศ ให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษายกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ ๒/๒๕๒๗ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๗ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ประเมินภาษีอากรระหว่างปีพ.ศ ๒๕๒๒ – ๒๕๒๕ ของโจทก์เสียใหม่ และแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินตามมาตรา ๑๘ แห่งประมวลรัษฎากรให้โจทก์ทราบ ใคืนหรือส่งคืนเงินจำนวน๒๐,๐๖๑.๗๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๖ ให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ให้การว่า การที่จำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวน เป็นการกระทำโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดว่าการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ จะต้องมีการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ วรรคแรกเสียก่อน การที่จำเลยที่ ๒ หมายเรียกโจทก์มาเพราะโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๒ -๒๕๒๕ โดยโจทก์ได้แสดงเงินได้และหักค่าใช้จ่ายไว้ผิดประเภท กล่าวคือโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๖) และหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ๖๐ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๒) และหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงร้อยละ ๒๐ (ที่ถูกร้อยละ ๓๐) เท่านั้น ดังนั้นโจทก์จึงเสียภาษีเงินได้น้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ รับรักษาพยาบาลผู้ป่วยและจำหน่ายยาแก่ผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนนั้นโจทก์ได้แสดงเงินได้และหักค่าใช้จ่ายไว้ผิดประเภทเช่นกัน กล่าวคือโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๘) และหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๗๕ แต่ความจริงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๖) และหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงร้อยละ ๖๐ เท่านั้น เป็นเหตุให้โจทก์เสียภาษีเงินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนและสั่งให้โจทก์เสียภาษี เงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ครบถ้วนตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรแล้วจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินจะต้องประเมินภาษีอากรของโจทก์และแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปให้โจทก์ทราบตามมาตรา๑๘ วรรคแรก การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ประเมินภาษีอากรของโจทก์ตามมาตรา ๑๘วรรคแรก แต่กลับใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ ออกหมายเรียกตัวโจทก์ไปทำการไต่สวนแล้วทำการประเมินภาษีตามมาตรา ๒๐ โดยเพียงแต่เปลี่ยนแปลงประเภทเงินได้พึงประเมินเสียใหม่แล้วคำนวณภาษีใหม่ให้ผิดไปจากที่โจทก์ยื่นรายการไว้เป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ เห็นว่าโจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรโดยแสดงเงินได้และหักค่าใช้จ่ายไว้ผิดประเภท ทำให้จำนวนภาษีที่เสียไว้ผิดไปด้วย กล่าวคือเสียภาษีไว้น้อยกว่าที่ควรต้องเสีย ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ จำเลยที่ ๒ จึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนแล้วประเมินภาษีอากรของโจทก์ให้ถูกต้องได้ตามมาตรา ๑๙ และ ๒๐ แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำต้องประเมินแล้วแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังโจทก์ผู้ต้องเสียภาษีอากรตามมาตรา ๑๘ วรรคแรกก่อนแต่อย่างใดเพราะเป็นคนละกรณีกัน
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า เงินได้ของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดนั้น ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๒/๒๕๒๖ ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ฟ้องกรมสรรพากรกับพวกเป็นจำเลย โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการทำงานในสถาน-พยาบาลของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีแม่เมาะและในสถานพยาบาลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น เป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๒) ส่วนเงินได้จากคลินิกซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของและดำเนินการรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนนั้น เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา ๔๐ (๖) ดังนั้นเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการทำงานในสถานพยาบาลของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีแม่เมาะและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๖) และเงินได้จากการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยาในสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนของโจทก์จึงไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๘) แห่งประมวลรัษฎากรดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share