แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีของจำเลยไม่อาจบังคับตามมาตรา 54 วรรคสอง และมาตรา 55 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เพราะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมิได้มีคำเตือนให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขตามมาตรา 54 วรรคสอง แต่คณะกรรมการใช้อำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์แก่จำเลย ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง และได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมีหน้าที่ชำระภาษีอากรและภาษีอากรเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 55 วรรคสาม แต่จำเลยมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 112 จัตวา ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์คิดเงินเพิ่มจากจำเลยเกินเงินภาษีอากร เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55 วรรคสี่นั้น จำเลยมิได้กล่าวอ้างความข้อนี้มาในคำให้การ ทั้งยังเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย เพราะศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยต้องชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวาหาใช่ต้องชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 55 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระอากรขาเข้าให้แก่โจทก์พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของยอดอากรขาเข้า โดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันตรวจปล่อย (ส่งมอบ) สินค้าขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระเงิน ๒๑๔,๑๘๑.๐๗ บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บอากรขาเข้าและเงินเพิ่มจากจำเลยเพราะจำเลยได้รับงดเว้นในการเสียอากรขาเข้าสำหรับสินค้าตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยนำเงินไปชำระอากรขาเข้าและเงินเพิ่ม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยต้องชำระเงินอากรขาเข้าจำนวน๓๐๗,๕๒๔.๕๘ บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มจากจำเลยไม่ได้เพราะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไม่ได้เตือนให้จำเลยแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดเสียก่อน และเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ชำระแก่โจทก์เพียงพอที่จะหักชำระเงินอากรขาเข้าแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๑๔,๑๘๑.๐๗ บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ จำเลยได้นำสินค้าตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้าให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๓๐๗,๕๒๔.๕๘ บาท โจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๗ โดยโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บอากรขาเข้าจากจำเลย เนื่องจากจำเลยได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต่อมาวันที่ ๒๔มิถุนายน ๒๕๒๓ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแจ้งแก่โจทก์ว่าได้เพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดของจำเลยแล้ว โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยนำเงินอากรขาเข้ามาชำระแก่โจทก์พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน นับแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๗ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๖ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในฐานะผู้ค้ำประกันได้นำเงินจำนวน๔๗๐,๐๐๐ บาท มาชำระแก่โจทก์ โจทก์นำไปหักชำระเงินเพิ่มและเงินอากรขาเข้าแล้วแจ้งให้จำเลยชำระเงินอากรขาเข้าที่ยังขาดอยู่อีก ๑๗๒,๗๒๖.๘๓ บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของยอดเงินที่ค้างชำระคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๔๑,๔๕๔.๒๔ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑๔,๑๘๑.๐๗ บาทโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ว่า มาตรา ๕๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสั่งให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขเสียก่อนก็ได้ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นมิได้เป็นการกระทำโดยจงใจ ส่วนมาตรา ๕๕วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะให้ผู้ได้รับการส่งเสริมเสียเงินเพิ่มภาษีอากร… นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง อีกด้วยก็ได้… แต่กรณีของจำเลยในคดีนี้ไม่อาจบังคับตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง และมาตรา ๕๕ วรรคสี่ ดังได้กล่าวมาแล้วได้ เพราะไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเห็นว่า การที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น มิได้เป็นการกระทำโดยจงใจ จึงไม่ปรากฏว่ามีคำเตือนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขเสียก่อน คดีนี้ได้ความว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนใช้อำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ให้แก่จำเลยตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมีหน้าชำระภาษีอากรและภาษีอากรเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๕ วรรคสาม แต่จำเลยมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙มาตรา ๑๑๒ จัตวา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์คิดเงินเพิ่มจากจำเลยเกินเงินภาษีอากร เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๕๕ วรรคสี่ นั้น จำเลยมิได้กล่าวอ้างความข้อนี้มาในคำให้การ ทั้งยังเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย เพราะศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยต้องชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒จัตวา หาใช่ต้องชำระเงินเพิ่มตามมาตรา ๕๕ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐ดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษายืน.