คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 705/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 แม้จะบรรยายว่า จำเลยได้โอนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปี ก่อนถูกฟ้องล้มละลายโดยมิได้ใช้คำว่า ‘ก่อนล้มละลาย’ แต่เมื่อได้บรรยายด้วยว่าศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งเป็นวันที่การล้มละลายของจำเลยเริ่มต้นมีผลตามมาตรา 62 แล้ว ก็ถือได้ว่าการโอนที่ขอให้เพิกถอนคือการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลายนั่นเอง คำร้องเช่นนี้ต้องด้วยมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว
กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวให้ ส. มีข้อสัญญาให้ส. ชำระราคาเป็นงวด ๆ จนกว่าจะหมดใน 3 ปี ชำระหมดแล้วจึงจะโอนกัน หลังจากทำสัญญาได้เพียง 4 เดือนและอยู่ในระหว่าง3 เดือนก่อนจำเลยถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยก็โอนที่ดินและตึกแถวให้ ส. ทั้ง ๆ ที่ยังชำระราคาไม่ครบ และจำเลยก็รู้ดีว่าตนเป็นหนี้คนอื่นอีกมากและการโอนทรัพย์รายนี้ จะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ดังนี้ย่อมถือว่า ส. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามความหมายของมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องทั้ง 4 สำนวน มีใจความว่าโจทก์ฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2502ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2502 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนได้ความว่าจำเลยดำรงชีพอยู่ด้วยการกู้ยืมจากเจ้าหนี้หลายรายในระยะเวลา 3 ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลาย ปี พ.ศ. 2501 ต่อต้นปี พ.ศ. 2502 จำเลยมีเจ้าหนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ราย เป็นหนี้ประมาณ 2 ล้านบาทเศษ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1064 เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวารวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นห้องแถวไม้ 6 ห้อง และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1065 เนื้อที่ประมาณ 72 ตารางวารวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถวรวม 5 คูหา เลขที่ 105, 107, 109, 111, 113 ต่อมาที่ดินแปลงนี้แบ่งออกเป็นที่ดิน 4 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 5683, 5684,5685 และ 5686

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนก่อนถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ 1064 รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้นายศิริ บุศยอังกูร ในราคา 40,000 บาท

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนก่อนถูกฟ้องล้มละลาย จำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ 1065 เฉพาะส่วนเนื้อที่ 13 ตารางวา รวมทั้งตึกแถวเลขที่ 109 ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นโฉนดที่ 5685 ให้นางสุนีย์ ตั้งเกียรติวุฒิ ในราคา 38,125 บาท

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปีก่อน ถูกฟ้องล้มละลายจำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ 1065 เฉพาะส่วนเนื้อที่ 13 ตารางวารวมทั้งตึกแถวเลขที่ 113 ให้นางสาวสร้อย สันธิโยธิน ในราคา 45,000 บาทต่อมานางสาวสร้อยได้โอนขายให้นางกรรณิการ์ เหลืองวุฒิวิโรจน์ ในราคา 45,000 บาท

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปีก่อนถูกฟ้องล้มละลายจำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ 1065 เฉพาะส่วนเนื้อที่17 ตารางวา รวมทั้งตึกแถวเลขที่ 111 ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นโฉนดที่ 5686 ให้แก่นายเกียรติ ภัทรานุประวัติ ในราคา 45,000 บาท

ราคาขายที่ดินทั้ง 4 ราย เป็นราคาต่ำกว่าราคาจริงมาก และมิได้มีการชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวในขณะหรือวันที่ทำสัญญาขาย ทั้งนี้โดยจำเลยและผู้รับโอนได้ทำนิติกรรมโดยมีเจตนาจะหลีกเลี่ยงป้องกันมิให้บรรดาเจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยได้รับชำระหนี้จากจำเลย อันเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้บรรดาเจ้าหนี้อื่น ๆ เสียเปรียบ ยิ่งกว่านั้นผู้รับโอนทั้ง 6 รายและผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำนิติกรรมยังทราบในขณะทำนิติกรรมว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งเป็นหนี้ที่มีจำนวนเงินมาก จำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ให้หมดสิ้นได้นิติกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นด้วยความไม่สุจริตมุ่งหมายให้บรรดาเจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 114, 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 ราย

นายศิริ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อ 19 กรกฎาคม 2498 จำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 1064 รวมทั้งห้องแถว 6 ห้องไว้กับผู้คัดค้านเป็นเงิน 40,000 บาท เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2500 จำเลยจำนองที่ดินอีกแปลงพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้กับผู้คัดค้านเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2500 จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านอีก 30,000 บาท ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม 2501จำเลยไถ่จำนองที่ดินรายหลัง โดยชำระเงินต้นให้เพียง 70,000 บาท ส่วนเงินต้นที่เหลือ 30,000 บาท กับหนี้ตามสัญญากู้อีก 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ค้าง 8,750 บาท รวมเป็นเงิน 68,750 บาท ได้ตกลงรวมทำเป็นสัญญากู้ขึ้นใหม่ วันที่ 15 ธันวาคม 2501 จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1064 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้าน เพื่อชำระหนี้จำนองกับหนี้เงินกู้ดังกล่าวรวมเป็นเงิน 108,750 บาท ไม่ใช่ 40,000 บาทตามคำร้อง และมิใช่ราคาต่ำกว่าราคาจริง ผู้คัดค้านได้รับโอนโดยมีค่าตอบแทน และด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

นางสุนีย์ยื่นคำคัดค้านว่า ซื้อตึกแถวเลขที่ 109 และที่ดินโฉนดที่ 5685 ซึ่งแยกจากโฉนดที่ 1065 จากจำเลยเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2501 ในราคา 76,250 บาท แต่ที่ลงในสัญญาซื้อขายน้อยกว่าราคาจริงก็เพื่อจะให้เสียค่าอากรแสตมป์น้อยลง การชำระเงินเป็นการผ่อนชำระก่อนโอนโฉนดชำระบางส่วน โอนโฉนดแล้วชำระอีกหลายงวดจนเสร็จ ชำระเสร็จจำเลยยังไม่ได้ถูกฟ้องล้มละลาย ผู้คัดค้านซื้อตึกแถวและที่ดินไว้โดยสุจริต และมีค่าตอบแทนสมควรแก่ราคา ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงป้องกันมิให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยได้รับชำระหนี้ ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

นางสาวสร้อย และนางกรรณิการ์ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อ พ.ศ. 2501จำเลยบอกขายตึกแถวเลขที่ 113 กับที่ดินโฉนดที่ 1065 มารดาและสามีของนางกรรณิการ์เป็นคนต่างด้าว และขณะนั้นนางกรรณิการ์ก็ยังใช้ชื่อแซ่เป็นจีน จึงขอให้นางสาวสร้อยเป็นผู้ซื้อไว้แทน ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อ 4 กรกฎาคม 2501 ราคาที่ลงในสัญญาน้อยกว่าที่ซื้อขายกันจริงเพื่อจะให้เสียค่าอากรแสตมป์น้อยลง เมื่อนางกรรณิการ์ใช้ชื่อและนามสกุลว่านางกรรณิการ์ เหลืองวุฒิวิโรจน์ แล้ว นางสาวสร้อยจึงได้โอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อ 8 ธันวาคม 2501 ผู้คัดค้านซื้อตึกแถวและที่ดินจากจำเลยโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนโดยสมควรแก่ราคา ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

นายเกียรติ ยื่นคำคัดค้านว่าได้ซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 1065 และตึกแถวเลขที่ 111 จากจำเลยในราคา 95,000 บาท ที่ลงในสัญญาน้อยกว่าราคาจริงก็เพื่อจะได้เสียค่าธรรมเนียมน้อย ผู้คัดค้านซื้อโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ต่อมาผู้คัดค้านทั้ง 4 ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเติมคำคัดค้านว่า คดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้ง 4 สำนวนขาดอายุความ เพราะทราบหรือน่าจะทราบเหตุเพิกถอนเกินกว่า 1 ปีแล้ว

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดที่ 1064รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยกับนายศิริ ผู้คัดค้าน โดยถือว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของจำเลย คำร้องขอเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีก 3 สำนวนให้ยกเสีย

นายศิริ ผู้คัดค้าน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

นายศิริ ผู้คัดค้านฎีกาขอให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา ขอให้เพิกถอนการโอนในสำนวนที่ 2, 3, 4

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้ง 4 สำนวนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้อง ขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่จำเลยโอนให้แก่ผู้คัดค้านโดยบรรยายในคำร้องว่าจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2502 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2502 กับได้ระบุวันที่จำเลยโอนทรัพย์สินแต่ละรายไว้โดยละเอียดอันอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลายและ 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 114 และ 115 โดยเฉพาะคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในสำนวนที่ 3 และ 4 บรรยายว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ 1065 ให้แก่ผู้คัดค้านทั้ง 2 รายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 อันอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนที่จำเลยจะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายในคดีนั้น แม้จะใช้คำว่า “ก่อนที่จำเลยจะถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย” มิได้ใช้คำว่า “ก่อนล้มละลาย” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็ตาม แต่เมื่อในคำร้องได้บรรยายไว้ชัดเจนถึงวันที่จำเลยได้กระทำการโอนคือวันที่ 4 กรกฎาคม 2501 และวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยโดยเด็ดขาด คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งเป็นวันที่การล้มละลายของจำเลยเริ่มต้นมีผลตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว ก็ถือได้ว่าการโอนทรัพย์สินที่ขอให้เพิกถอน คือการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายนั่นเอง คำร้องขอให้เพิกถอนในสำนวนที่ 3 และ 4 จึงต้องด้วยมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 คำพิพากษาฎีกาที่ 833/2510 ซึ่งศาลอุทธรณ์อ้างนั้นปรากฏว่าคำร้องระบุว่า จำเลยได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนถูกฟ้องล้มละลายหาได้ระบุรายละเอียดให้เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการโอนที่ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลายเหมือนคำร้อง 2 สำนวนนี้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องขอให้เพิกถอนฯ ในสำนวนที่ 3 และ 4 ชอบที่จะรับไว้พิจารณา

ตามฎีกาของผู้คัดค้านสำนวนที่ 1 และคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านสำนวนที่ 4 เรื่องคดีขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนเป็นการร้องตามมาตรา 114 และ 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หาใช่การร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้ และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความการร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ 115 ไว้ จึงต้องนำมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ฉะนั้น เมื่อคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนได้ยื่นต่อศาลยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันโอน จึงยังไม่ขาดอายุความ

การโอนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างตามสำนวนที่ 1 เห็นได้ว่าราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยโอนให้นายศิริ ผู้คัดค้าน เพื่อชำระหนี้จำนองและหนี้เงินกู้นั้นต่ำกว่าราคาจริงเกือบครึ่งเท่าตัว จึงฟังได้ว่าจำเลยโอนให้นายศิริ ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยโดยจำเลยมุ่งหมายให้นายศิริ ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ชอบที่จะเพิกถอนการโอนนั้นตาม มาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

สำนวนที่ 2 นั้นเห็นได้ว่า การที่จำเลยโอนที่ดินและตึกแถวให้นางสุนีย์ ผู้คัดค้านไปในขณะที่นางสุนีย์ยังชำระเงินไม่หมด เป็นการกระทำอย่างเร่งรีบ หลังจากทำสัญญาจะซื้อขายเพียง 4 เดือน ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญามีกำหนดเวลาผ่อนชำระกันถึง 3 ปี พฤติการณ์ของจำเลยและนางสุนีย์ส่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายร่วมรู้คบคิดกัน สำหรับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมรู้ดีว่าตนเป็นหนี้คนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก และการโอนทรัพย์รายนี้จะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ โดยจะยึดทรัพย์รายนี้เพื่อชำระหนี้ไม่ได้ ส่วนผู้คัดค้านซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ผู้จะได้รับโอนตามสัญญาจะซื้อขายย่อมได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น การโอนที่จำเลยกระทำไปฟังได้ว่าจำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามความหมายในมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลจึงสั่งเพิกถอนได้

การโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสำนวนที่ 3 และ 4 เป็นการโอนทรัพย์สินที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนล้มละลาย และข้อเท็จจริงได้ความว่าราคาซื้อขายที่ปรากฏในสัญญา ต่ำกว่าราคาจริง ทั้งเชื่อไม่ได้ว่าได้มีการชำระราคาทรัพย์สินที่จำเลยโอนให้ผู้คัดค้านทั้ง 2 รายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ฟังเป็นที่พอใจศาลไม่ได้ว่าการโอนทรัพย์สินของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านทั้ง 2 สำนวนนี้ได้กระทำโดยสุจริต ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนได้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

พิพากษาแก้ เป็นว่าให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1065 เฉพาะส่วนรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านในสำนวนที่ 2, 3 และ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share