คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 395/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การค้นในที่รโหฐานนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 บัญญัติให้ทำการค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น เท่าที่สามารถจะทำได้ หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอย่างอื่น 2 คน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าสามารถทำการค้นได้ต่อหน้าคนอื่น ฉะนั้น การที่จำเลยกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทำการค้นบ้านโจทก์ต่อหน้ามารดาโจทก์และบุคคลอื่นอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งจำเลยขอร้องมาเป็นพยาน จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำเท่าที่สามารถจะทำได้ และไม่อาจหาบุคคลอื่นใดมาเป็นพยานในการค้นของจำเลยมากไปกว่านั้น ถือได้ว่าเป็นการค้นที่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้บุกรุกเข้าไปในห้องของโจทก์ขณะที่โจทก์ไม่อยู่ จำเลยกับพวกรื้อค้นสิ่งของในห้องของโจทก์โดยไม่มีเหตุสมควร ไม่มีเหตุตามกฎหมาย ไม่มีหมายค้น หมายจับ ไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๖๒, ๓๖๕, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษาว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลทุกข้อหา ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๒ ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานค้นต่อหน้าคนในบ้าน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่านายสุ่นมารดาโจทก์ซึ่งอยู่ในบ้านตาบอดทั้งสองข้างและหูหนวกด้วย จึงไม่สามารถ “รู้” และ “เห็น” ได้ พวกจำเลยจึงได้เชิญนายหยัด เรืองต่อวงศ์ มาเป็นพยานในการตรวจค้น ฉะนั้น จะถือว่าเป็นการค้นต่อหน้าคนในบ้านโจทก์หาได้ไม่ นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๒ วรรคแรก บัญญัติว่า “การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่ หรือบุคคลในครอบครัวผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน” กฎหมายบัญญัติไว้ดังนี้ และศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกสามารถทำการค้นได้ต่อหน้าคนอื่น นอกจากนางสุ่น ในฐานะบุคคลในครอบครัวของโจทก์ หรือนอกจากนายหยัด เรืองต่อวงศ์ ในฐานะบุคคลอื่นโดยมีบุคคลอีกคนหนึ่งรวมเป็นสองคนตามบทกฎหมายที่กล่าวแล้วได้ การที่จำเลยกับพวกค้นบ้านโจทก์ต่อหน้านางสุ่นกับนางหยัด เรืองต่อวงศ์ จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำเท่าที่สามารถจะทำได้ และไม่อาจจะหาบุคคลอื่นใดมาเป็นพยานในการค้นของจำเลยมากไปกว่านั้น ถือได้ว่าเป็นการค้นที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๐๒ แล้ว พิพากษายืน

Share