แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2257 เนื้อที่ 6 ไร่ 45 วา ซึ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดที่ 13 ให้แก่บิดาโจทก์โดยใส่ชื่อโจทก์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2491 ต่อมาโจทก์ทราบว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่ดินโฉนดที่ 13 ที่เหลือมีเนื้อที่ 5 ไร่ 78 วา ไม่ใช่ที่ดินโฉนดที่ 2257 ส่วนที่ดินโฉนดที่ 2257 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ดังนี้ แม้ที่ดินที่โจทก์เป็นเรื่องครอบครองที่ดินสับแปลงกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องขอบังคับจำเลยก็ดี แต่โจทก์จะต้องจัดการฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2491 ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2491 เป็นต้นไป เพราะโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้แล้ว ไม่ใช่นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2506 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองไม่ใช่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2257 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยเมื่อวัน ที่ 27 พฤศจิกายน 2506 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วคดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 163
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๓ เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๔๘ วา พ.ศ. ๒๔๙๑ ตกลงขายให้นายตาบิดาโจทก์ ๖ ไร่ ๔๕ วา ขายให้นางละม่อมป้าโจทก์ ๖ ไร่ ๒๕ วา อีกแปลงหนึ่ง ส่วนที่เหลือ ๕ ไร่ ๗๘ วา เป็นที่ดินตามโฉนดเดิมเลขที่ ๑๓ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๑ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๒๕๗ ให้นายตาบิดาโจทก์ ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท โดยนายตาลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายตาและโจทก์ครอบครองตลอดมา ต่อมาโจทก์ตรวจหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่ดินโฉนดที่ ๑๓ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๗๘ วา ที่จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์และได้จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ ๒ ไปเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๐๖ ไม่ใช่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๒๕๗
ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๕๗ ห้ามจำเลยที่ ๒ เกี่ยวข้องกับให้จำเลยที่ ๒ รับมอบที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓ ตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินที่ขายให้จำเลยที่ ๒ นั้น จำเลยได้ครอบครองด้วยความสุจริต เปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า ๑๐ ปี จนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๒ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และคดีขาดอายุความ ฯลฯ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บิดาโจทก์ซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้บิดาโจทก์ และโจทก์ครอบครองมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า ๑๕ ปี โจทก์มิได้โต้แย้งเรื่องที่ดินผิดแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายทำกันมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว คดีขาดอายุความ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย วินิจฉัยว่า การซื้อขายทุกฝ่ายเป็นไปโดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย ต่างเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว คำขอของโจทก์ไม่มีทางบังคับคดีให้ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังตามฟ้องว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๓ ซึ่งไม่ใช่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๒๕๗ ที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อโจทก์ และเป็นเรื่องครอบครองที่ดินสับแปลงกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะฟ้องขอบังคับจำเลยได้ก็ดี แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จะต้องจัดการฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ สิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และอายุความในเรื่องนี้จะเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา ๑๖๙ คดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๑ ฉะนั้น อายุความฟ้องร้อง เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๙๑ เป็นต้นไป เพราะโจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้แล้วไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองไม่ใช่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๕๗ แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ เป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว คดีของโจทก์ตกเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา ๑๖๓ ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลย และกฎหมายลักษณะความนี้เป็นสิทธิของจำเลยที่จะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ทุกกรณี ฉะนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า จะยกอายุความมาบังคับในกรณีครอบครองผิดแปลงไม่ได้ หรืออายุความเพิ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ว่าครอบครองที่ดินผิดแปลงนั้น ฟังไม่ได้
พิพากษายืน