คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรผู้เยาว์ฉุดคร่าหญิงไปข่มขืนกระทำชำเรา บิดามารดาต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์ด้วย เว้นแต่บิดามารดาจะนำสืบพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตรผู้เยาว์ ถ้าบิดามารดาไม่นำสืบ ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้

ย่อยาว

ฟ้องระบุว่าบุตรผู้เยาว์โดยบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโจทก์ แม้จะบรรยายฟ้องบางตอนประหนึ่งว่าบิดาเป็นโจทก์เอง แต่เมื่อคำให้การของจำเลยและคำแถลงของโจทก์จำเลยในวันชี้สองสถานก็เป็นที่เข้าใจโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คือบุตรผู้เยาว์ และจำเลยก็มิได้หลงข้อต่อสู้ ถือว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกได้ฉุดคร่านางสาวสมพงษ์ ไปข่มขืนกระทำชำเราและได้ถอดเอาเครื่องประดับของนางสาวสมพงษ์ไป ทำให้โจทก์เสียหายคือ ค่าเครื่องประดับ ค่าจ้างบุคคลอื่นทำนาแทน ค่าตัวที่เสียความเป็นสาว ค่าใช้จ่ายในการติดตาม ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเลี้ยงดูไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ ค่าเสียหายที่อับอายขายหน้าประชาชน รวมทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๒, ๓ ผู้เป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑ ผู้เยาว์จะต้องรับผิดด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ ๑ อายุ ๑๙ ปีเศษฉุดคร่านางสาวสมพงษ์ไปจริงแตจำเลยที่ ๒, ๓ ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย และเหลือวิสัยที่จำเลยที่ ๒, ๓ จะดูแลป้องกันได้และต่อสู้ในเรื่องค่าเสียหายบางรายการว่ามากไปหรือจำเลยไม่ควรต้องเสียกับว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะสับสนในเรื่องตัวโจทก์ ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับกันบางประการแล้วว่าโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยค่าเสียหายเฉพาะบางรายการ คือค่าเสียความเป็นสาวค่าเลี้ยงดูจนบรรลุนิติภาวะ และค่าอับอาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายตามรายการที่แถลงรับกันไว้ คือค่าเครื่องประดับ ๑,๐๐๐ บาท ค่าติดตาม ๕๐๐ บาท ค่าจ้างคนทำนา ๕๐๐ บาท ส่วนค่าเลี้ยงดูโจทก์เรียกไม่ได้ ให้ยกค่าเสียหายเป็นสาวและค่าอับอายเป็นประเภทเดียวกัน พิเคราะห์กำหนดให้จำเลยใช้ให้ ๕,๐๐๐ บาท รวมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิด ใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ๗,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒, ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒, ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ในเรื่องทีจำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ปรากฏแน่ชัดลงไปว่าผู้ใดเป็นโจทก์นั้น แล้วเห็นว่าตามคำฟ้อง ชื่อโจทก์ในตอนต้นเขียนไว้ว่า “นางสาวสมพงษ์ เข็มกลัด โดยนายผิด เข็มกลัด บิดาผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์” ในคำให้การของจำเลยที่ ๒, ๓ ข้อ ๑ ก็ได้เขียนว่า “ในการที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำการฉุดคร่าโจทก์ (นางสาวสมพงษ์) ไปนั้น ฯลฯ” นอกจากนี้ในวันชี้สองสถาน คำแถลงของโจทก์จำเลยก็เป็นที่เข้าใจโดยชัดแจ้งว่า โจทก์คือนางสาวสมพงษ์ จึงเห็นได้ว่าฟ้องโจทก์มิได้เคลือบคลุม จำเลยที่ ๒, ๓ มิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบก็ต้องแพ้คดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๙ เห็นได้ว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒, ๓ (ซึ่งเป็นบิดามารดา) จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตนไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ เพราะเหตุใด หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องเป็นผู้นำสืบก่อนไม่ เมื่อจำเลยที่ ๒, ๓ กล่าวอ้างถึงความไม่ต้องรับผิดของตนมาในคำให้การ แต่ตนมิได้นำสืบเช่นนี้ จำเลยที่ ๒, ๓ จึงไม่อาจปฏิเสธถึงความรับผิดได้
พิพากษายืน.

Share