คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ถ้าจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัด โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถและเลิกสัญญาได้ เงินที่ส่งชำระมาแล้วยอมให้โจทก์ริบ ค่าเช่าที่ยังค้างอยู่จะชำระให้จนครบ ส่วนค่าเสียหายจำเลยยอมรับผิดชอบ รถที่คืนจำเลยยินยอมให้โจทก์จำหน่าย หากได้ราคาไม่ครบถ้วน จำเลยต้องชดใช้เงินที่ขาด ความตอนท้ายที่เกี่ยวกับการให้จำหน่ายรถนั้น เป็นวิธีการกำหนดและชดใช้ค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อจำหน่ายรถ จะทราบจำนวนค่าเสียหายที่แน่นอน แม้ยังไม่จำหน่ายรถ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายซึ่งจำเลยต้องรับผิดอยู่แล้ว โดยพิสูจน์ได้จากพยานหลักฐาน
กรณีจำเลยผู้เช่าซื้อผิดนัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 มิได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์โดยแจ้งชัดนอกเหนือไปจากการกลับเข้าครองทรัพย์สินและริบเงินที่จำเลยส่งแล้ว ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจนเต็มจำนวนด้วย ก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้แล้วก่อนเลิกสัญญา
แม้จำเลยจะผิดนัด หากโจทก์เรียกร้องเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเพียงค่าเสียหาย ซึ่งตามปกติคือดอกเบี้ย เว้นแต่จะพิสูจน์ความเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วย ไม่ใช่โจทก์เรียกร้องได้ทั้งเงินค่าเช่าซื้อเต็มจำนวน แล้วยังเอารถกลับคืนทั้งคันเป็นสองต่อ
เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 มิได้บัญญัติไว้ ย่อมแสดงว่ากฎหมายประสงค์ปล่อยให้ความรับผิดของจำเลยอยู่ภายใต้บทบัญญัติในเรื่องหนี้โดยทั่วไป กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน เพราะจำเลยไม่ชำระหนี้ จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คำมั่นจะขายที่โจทก์ให้ไว้ย่อมสิ้นไปโจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเต็มจำนวนดุจเป็นค่าตอบแทนการโอนกรรมสิทธิ์ในรถเสมือนราคาไม่ได้ คงมีสิทธิเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยที่จำเลยได้ใช้รถของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังครอบครองรถของโจทก์อยู่เท่านั้น
หากรณีที่คืนมาเสียหาย ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดนอกเหนือจาการใช้รถโดยชอบ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อเหตุนั้นได้
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ที่ว่า ให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินที่ยังค้างส่งเต็มจำนวนทั้งให้จำเลยรับผิดในความเสียหายเนื่องจากเลิกสัญญาด้วยนั้น เป็นขอสัญญาที่ระบุความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ข้อสัญญาที่กำหนดค่าเช่าตามปกติ หรือค่าใช้ทรัพย์โดยแท้ แต่รวมราคาขายรถไว้ส่วนหนึ่งด้วย แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้
แม้สำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องขาดข้อความที่ว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในการที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ ไม่ตรงกันกับต้นฉบับซึ่งมีข้อความดังกล่าว เมื่อโจทก์อ้างส่งต้นฉบับเป็นพยาน จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริง ศาลย่อมรับฟังต้นฉบับสัญญาค้ำประกันได้ ไม่เป็นการนอกประเด็นในคำฟ้อง เพราะคำฟ้องก็มีข้ออ้างให้จำเลยต้องรับผิดในฐานผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว
(ปัญหาตามวรรคสองถึงวรรคหก วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 20/2511 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา ๖๘,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒,๓ เป็นผู้คำประกัน จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๒,๐๐๐ บาท และค้างชำระ ๖๖,๐๐๐ บาท โจทก์ได้นำรถคืนมา ปรากฏว่าเสียหาย ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อค้างชำระและค่าเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าเช่าซื้อจริง แต่ไม่ได้ผิดนัดจำเลยส่งรถคืนในสภาพดีกว่าเดิม ไม่ต้องรับผิด ตามสัญญาข้อ ๖ โจทก์ต้องจำหน่ายรถเสียก่อน จำเลยจึงจะรับผิดในส่วนที่ขาด โจทก์ไม่ได้จำหน่ายรถ จำเลยไม่ต้องรับผิดและโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ จำเลยที่ ๒,๓ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยผิดนัด โจทก์ยึดรถคืนได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์ส่งศาลมีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันรับผิดในการผัดผ่อนของลูกหนี้ จำเลยที่ ๒,๓ ต้องรับผิด แต่ค่าเสียหายฟังไม่ได้ และโจทก์ยังไม่ได้ขายรถตามสัญญาข้อ ๖ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์เลือกบังคังโดยเข้าครอบครองรถ บอกเลิกสัญญา ริบเงินที่ชำระไปแล้ว จำเลยต้องส่งรถในสภาพที่ดี ค่าเช่าซื้อที่ค้างต้องชำระจนครบ ถ้าโจทก์จะเรียกเอาราคารถเต็มจำนวนแทนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระโจทก์ต้องจำหน่ายรถเสียก่อน คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ มิได้ฟ้องเรียกราคารถยนต์ จึงฟ้องได้โดยไม่ต้องขายรถยนต์ก่อน และผู้ค้ำประกันยังไม่หลุดพ้นความรับผิดพิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง ๖๖,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒,๓ ผู้ค้ำประกันชำระ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาข้อ ๖ กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้เช่าผิดนัด โจทก์เข้าครอบครองรถและเลิกสัญญาได้ เงินที่ส่งมาแล้วริบเป็นของโจทก์ ที่ยังไม่ได้ชำระ โจทก์เรียกเอาได้ ส่วนค่าเสียหายจำเลยต้องรับผิดชอบ ข้อความที่ว่า จำเลยผู้เช่ายอมให้โจทก์ขายรถถ้าได้ราคาไม่ครบถ้วน จำเลยต้องใช้เงินที่ยังขาดนั้น เป็นวิธีการกำหนดและชดใช้ค่าเสียหายวิธีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อขายรถก็รู้ได้แน่นอนว่าจำเลยจะต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายอีกเท่าใดหาใช่ว่าโจทก์จะต้องขายรถเสียก่อนจึงจะเรียกค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ได้ไม่ เพราะจำเลยต้องรับชดใช้ค่าเสียหายอยู่แล้ว โดยโจทก์อาจพิสูจน์ได้โดยพยานหลักฐาน
เมื่อโจทก์ได้นำรถคืนมาแล้ว โจทก์จะเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยได้อีกบ้างนั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ ก็ดี ตามสัญญาข้อ ๖ ก็ดี โจทก์มีสิทธิริบเงินที่จำเลยส่งแล้ว และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ด้วย ดังที่โจทก์ได้นำรถคืนมาแล้ว แต่โจทก์จะเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยได้อีกบ้างนั้น ถ้าพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ เห็นได้ว่า กฎหมายมิได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์ โดยแจ้งชัดนอกเหนือไปจากการกลับเข้าครองทรัพย์สินและริบเงินที่จำเลยส่งแล้ว ถ้าโจทก์ยังจะมีสิทธิเรียกเงินที่จำเลยค้างส่งเต็มจำนวนด้วย ก็ไม่มีเหตุประการใดที่กฎหมายจะบัญญัติแต่เพียงให้ริบเงินที่จำเลยได้ใช้มาแล้วก่อนโจทก์เลิกสัญญา เป็นที่เห็นชัดแจ้งอีกด้วยว่า ถ้าจำเลยชำระเงินครบทุกงวด จำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในรถตามคำมั่นจะขายที่โจทก์ให้ไว้ หากจำเลยผิดนัด เมื่อโจทก์เรียกร้องให้ชำระเงินที่ค้าง โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิได้รับเพียงค่าเสียหายซึ่งตามปกติคือดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ เว้นแต่จะพิสูจน์ความเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วย อันเป็นที่แน่นอนว่าไม่ใช่โจทก์เรียกร้องได้ทั้งเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดเต็มจำนวนแล้ว ยังเอารถกลับคืนทั้งคันเป็นสองต่อ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ มิได้บัญญัติไว้ก็แสดงว่ากฎหมายประสงค์ปล่อยให้ความรับผิดของจำเลยอยู่ภายใต้บทบัญญัติในเรื่องหนี้โดยทั่วไป กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพราะจำเลยไม่ชำระหนี้ จนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา ค่าสินไหมทดแทนได้แก่อะไรบ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว คำมั่นจะขายที่โจทก์ให้ไว้ก็สิ้นไปโจทก์จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเต็มจำนวนดุจเป็นค่าตอบแทนการโอนกรรมสิทธิ์ในรถเสมือนราคาขายไม่ได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกแต่เพียงค่าที่จำเลยได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่เท่านั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรค ๓ หากรถที่คืนมาเสียหาย ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดนอกเหนือจากความเสียหายอันเกิดแต่การใช้รถโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๒ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อเหตุนี้ได้ ส่วนสัญญาข้อ ๖ ที่ระบุให้โจทก์ได้รับเงินที่ยังค้างส่งเต็มจำนวน ทั้งรับผิดในความเสียหายเนื่องจากเลิกสัญญาด้วยนั้น แท้ที่จริงก็เป็นข้อสัญญาที่ระบุความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มิใช่ข้อสัญญาที่กำหนดค่าเช่าตามปกติหรือค่าใช้ทรัพย์โดยแท้ไว้ แต่หากเป็นราคาขายรถที่กำหนดไว้ส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วย ข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ใช่ข้อตกลงเป็นข้อกำหนดค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ไว้ล่วงหน้าในกรณีเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๓ วรรค ๓ แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๘๓ เมื่อตามสัญญาข้อ ๖ โจทก์กำหนดเรียกร้องเอาทั้งรถคืนพร้อมทั้งค่าเสียหายและทั้งราคารถจนเต็มจำนวน เป็นการเรียกร้องเอาสองต่อเห็นอยู่ชัด ศาลจึงอาจลดลงเป็นจำนวนอันสมควรได้
ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าเสียหายค่าใช้รถตลอดเวลาที่จำเลยมิได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ นอกจากเงิน ๒,๐๐๐ บาท ที่โจทก์ริบได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ ๒,๓ ว่า แม้สำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องไม่มีข้อความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในการที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ผัดผ่อนเวลาชำระหนี้ ไม่ตรงกับต้นฉบับซึ่งมีข้อความดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์อ้างส่งต้นฉบับต่อศาลจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริง ศาลรับฟังต้นฉบับได้ ไม่เป็นการนอกประเด็นในคำฟ้อง เพราะคำฟ้องก็มีข้ออ้างให้จำเลยรับผิดในฐานผู้ค้ำประกันอยู่แล้ว
พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ ๔๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒,๓ ผู้ค้ำประกันชำระแทน

Share