คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9361/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ให้อำนาจเฉพาะอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ การที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานมีคำสั่งว่าคำฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มิใช่คดีแรงงานเป็นคำสั่งที่วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ จึงไม่ชอบ ศาลแรงงานต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาสั่งคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ ๑ และบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน ส่วนคำฟ้องที่ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายมิใช่คดีแรงงานจึงไม่รับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางในส่วนที่ไม่รับคำฟ้องที่ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าคำฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มิใช่คดีแรงงาน จึงไม่รับฟ้องนั้น เป็นคำสั่งที่วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเท่านั้น ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสอง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งไม่รับฟ้องในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ แล้วให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาสั่งคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ใหม่ตามรูปคดี.

Share