แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าศาลหรือต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเสมอไป อาจกระทำกันนอกศาลได้ เมื่อโจทก์และจำเลยสมัครใจได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีทางแพ่งเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างอันเป็นมูลเหตุให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คพิพาท สัญญาประนีประนอมยอมความจึงบังคับกันได้ตามกฎหมาย มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องหนี้ตามเช็คที่โจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและโจทก์ได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อตกลงว่าหากจำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ดำเนินคดีอาญาต่อไปทันที และเมื่อจำเลยชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ยอมให้หนี้ตามเช็คในคดีอาญาสิ้นผลผูกพันไปทั้งฉบับ โจทก์ตกลงว่าจะไปขอถอนฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ก็มิใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่เป็นผลให้มูลหนี้ระงับต่อเมื่อจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนไม่ ดังนั้น มูลหนี้ที่ออกเช็คตามฟ้องจึงได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้ว ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นส่งคดีไปไกล่เกลี่ยยังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกระทรวงยุติธรรมตามความประสงค์ของโจทก์และจำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระเงินตามเช็คจำนวน ๔ งวด งวดละ ๑๕,๐๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสองชำระเงินครบถ้วนแล้วจะถอนฟ้องรายละเอียดปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำขึ้นโดยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยทั้งสอง ไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าศาลหรือต่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเสมอไปอาจกระทำกันนอกศาลได้ ทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่เกิดจากแรงจูงใจหรือคำมั่นที่ผิดข้อตกลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ ดังที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย โดยมีข้อความระบุว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีทางแพ่ง เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างอันเป็นมูลเหตุให้จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาทคดีนี้อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คพิพาท สัญญาประนีประนอมยอมความจึงบังคับกันได้ตามกฎหมาย มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องหนี้ตามเช็คที่โจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและโจทก์ได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์ดำเนินคดีอาญาต่อไปทันทีและเมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ยอมให้หนี้ตามเช็คในคดีอาญาสิ้นผลผูกพันไปทั้งฉบับ โจทก์ตกลงว่าจะไปขอถอนฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ก็มิใช่เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่เป็นผลให้มูลหนี้ระงับต่อเมื่อจำเลยทั้งสองปฏิบัติการชำระหนี้แกโจทก์ครบถ้วนไม่ ดังนั้น มูลหนี้ที่ออกเช็คตามฟ้องจึงได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ สิทธิที่โจทก์นำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน.