คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9273/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอำนาจอนุญาตให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงได้นั้นจะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจน คือ จะต้องบันทึกความเห็นของตนให้ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึก ยืนยันด้วยว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า “…รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม…” เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๙๑ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๒,๔๐๐,๒๘๕ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ค. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมกล่าวแต่เพียงว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม บทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าการที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของ โจทก์ร่วม เท่ากับเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและ วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒ ถ้า ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์… ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” จาก บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอำนาจอนุญาตให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงได้นั้นจะต้องบันทึกข้อความลงไว้ให้ครบหลักเกณฑ์ทั้งสองประการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยชัดเจน คือ จะต้องบันทึกความเห็นของตนให้ได้ความว่าข้อความที่ตัดสินไปเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจะต้องบันทึกยืนยันด้วยว่าตนอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า “…รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม…” เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่ามีการอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมโดยให้เหตุผลว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share