คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าลักษณะทั่วไปตามป.วิ.พ.มาตรา 55 คือ ตามฟ้องนั้นมีสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งโต้แย้งกันอยู่พร้อมบริบูรณ์แล้วจึงจะฟ้องร้องกันได้
ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม มิได้บังคับให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การ แต่เป็นบทบัญญัติให้จำเลยเลือกฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้หรือจะฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ตามแต่จำเลยจะเห็นสมควร แต่การที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้กระทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยจึงเป็นเจ้าหนี้โจทก์กลายเป็นลูกหนี้ ดังนั้น การฟ้องคดีของโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2)ก็เป็นผลเฉพาะโจทก์เท่านั้น ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย จำเลยฟ้องแย้งเมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงเหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ
อุทธรณ์ของจำเลยมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาเรื่องอายุความซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยก็มิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงต้องยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายดังกล่าวโดยไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นการชอบด้วยวิธีพิจารณาความตามกฎหมายแล้ว

Share