คำสั่งคำร้องที่ 1780/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางสั่งอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1,2.2,2.3 และ 2.4 โต้แย้งคัดค้านดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ส่วนข้อ 2.5 นั้นไม่มีลักษณะเป็นอุทธรณ์หรือไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ไม่รับอุทธรณ์ และสั่งคำร้องว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 หมวดอุทธรณ์บัญญัติให้คู่ความอุทธรณ์ได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติให้คู่ความขอให้รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่อาจรับรองได้ ยกคำร้อง
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.4 โต้แย้งว่าศาลไม่รับฟังพยานของโจทก์เพื่อหักล้างพยานจำเลยให้เห็นว่าพยานจำเลยไม่น่าเชื่อถือ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 2.3 มีปัญหาว่าโจทก์ขาดงานเกิน 7 วัน โดยมีเหตุสมควรหรือไม่และข้อ 2.4 มีปัญหาว่าการสอบสวนลงโทษโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบหรือไม่ ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2.5 นั้นก็เป็นเรื่องคัดค้านการตัดพยานโจทก์ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นกัน สำหรับการขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้โดยอนุโลม โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 66)
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งที่ 679/2528 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างเดิม และสภาพการจ้างเดิม โดยนับอายุงานต่อ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างไม่ได้ทำงานเป็นเงินเดือนละ 2,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น107,878.60 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 97,240 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย เดือนละ 2,860 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และให้ยกคำร้องดังกล่าว (อันดับ 61,62)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 63)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์ข้อ 2.1 ได้อ้างอิงคำเบิกความของพยานโจทก์จำเลยและอ้างถึงพยานเอกสารว่าไม่น่าเชื่อแล้วขอให้ฟังว่าโจทก์มิได้ลักทรัพย์ของจำเลย เป็นเรื่องโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย อุทธรณ์ข้อ 2.2อ้างว่าจากพยานหลักฐานต้องฟังว่าโจทก์มิได้ขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่อุทธรณ์ข้อ 2.3 อ้างว่าโจทก์ป่วยตามใบรับรองแพทย์ หลังจากเดือนเมษายน 2528 โจทก์ไปทำงานตามปกติแต่มีการกลั่นแกล้งมิให้โจทก์ลงชื่อในสมุดเวลาทำงานกับนายสุเทพไม่ให้โจทก์ทำงานเป็นเรื่องโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่า โจทก์ไม่ไปทำงานอันเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ กับอุทธรณ์ข้อ 2.5 ที่ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงทั้งสิ้น สำหรับอุทธรณ์ข้อ 2.4 ที่อ้างว่า กรรมการสอบสวนของจำเลยไม่ให้ความเป็นธรรมต่อโจทก์ การสอบสวนจึงไม่ชอบ และคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานน่าจะมีคนกลั่นแกล้งโดยแก้ไขคำสั่งให้ออกตามมติของคณะกรรมการสอบสวนเป็นให้ไล่ออกนั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกา กรณีจึงไม่อาจรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อไปสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงชอบแล้วให้ยกคำร้อง

Share