แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2,3 และ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนไม่ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 สำหรับข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการทำลายเอกสารในคดีนี้น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่เป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2,3,4 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดแล้วฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่ควรได้รับการวินิจฉัยในศาลฎีกา จึงไม่รับฎีกาของโจทก์โจทก์เห็นว่าฎีกาโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญซึ่งหากศาลฎีการับวินิจฉัยแล้วย่อมมีผลเปลี่ยนแปลงให้ศาลประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้พิจารณาต่อไป อีกทั้งเป็นกรณีชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น แม้ฎีกาโจทก์จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยทั้ง 4 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วโดยวิธีปิดหมาย(อันดับ 79,74 และ 72)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188,83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 68)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 70)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ข้อที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกาโดยอ้างว่า เป็นกรณีชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น แม้ฎีกาโจทก์จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170วรรคแรก บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดแต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา” ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว สำหรับข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นฎีกามานั้น ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง