คำสั่งคำร้องที่ 683/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 มีคำสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219นั้นประสงค์จะไม่ให้คู่ความฎีกาเฉพาะในกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งสองศาลเท่านั้น และการจำคุกต้องเป็นการจำคุกจริงโดยไม่มีการรอการลงโทษ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำเลย 4 เดือนและปรับ 5,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าโทษจำคุกไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับจำเลยที่ 2 นั้น ย่อมไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ โปรดรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล มีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งลดลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและได้พยายามบรรเทาผลร้ายด้วยการขอผ่อนชำระเงินให้โจทก์แล้วโทษจำคุกจึงให้รอไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 48)
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 51)

คำสั่ง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกินหนึ่งปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนดหนึ่งปีแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โทษเป็นว่าไม่รอการลงโทษและไม่ปรับอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ก็ยังคงลงโทษไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างเหตุผลหลายประการเกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share